คำพิพากษาย่อสั้น
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4)ไม่ได้กำหนดแบบของหนังสือตักเตือนไว้ว่าจะต้องมีรูปแบบและข้อความเป็นอย่างไร แต่หนังสือตักเตือนก็จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างตักเตือนลูกจ้างที่ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างมิให้กระทำผิดซ้ำอีก หากกระทำจะถูกลงโทษแต่หนังสือของจำเลยปรากฏหัวข้อหนังสือว่าเป็นเรื่องการทดลองงานกล่าวถึงผลการทดลองงานว่าโจทก์มีความบกพร่องในการทำงาน เช่น ลากิจลาป่วย และมาสายบ่อยในระหว่างทดลองงานซึ่งเป็นลักษณะตำหนิการทำงาน แล้วจำเลยให้ทดลองงานต่ออีก 2 เดือน มิได้มีข้อความกล่าวถึงว่าการกระทำของโจทก์เข้าลักษณะเป็นการกระทำผิดใดซึ่งหากกระทำผิดเช่นนั้นซ้ำอีกจะถูกลงโทษอย่างไรจึงมิใช่หนังสือตักเตือนตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4)
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสองบัญญัติว่า การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปการที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างพ้นจากการเป็นพนักงานแม้จะเป็นเพราะโจทก์ไม่ผ่านการทดลองงาน ก็ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง