คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4126/2543

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

คำว่า "ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล" ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 4 หมายถึง สิ่งที่แสดงถึงเรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดอันเป็นเรื่องราวเฉพาะตัวของบุคคลผู้นั้นซึ่งจำแนกให้เห็นความแตกต่างจากเรื่องราวของบุคคลอื่น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะบันทึกหรือทำให้ปรากฏในเอกสารหรือวัตถุใด ๆ
กระดาษคำตอบข้อสอบคัดเลือกเข้าเรียนในสถานศึกษาของทางราชการ เป็นเพียงเอกสารที่ผู้เข้าสอบแข่งขันจัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สถานศึกษากำหนดขึ้น เพื่อแสดงถึงภูมิความรู้และใช้เป็นเกณฑ์ชี้วัดความรู้ความสามารถของผู้เข้าสอบแข่งขันแต่ละคนโดยนำกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของแต่ละคนไปพิจารณาเปรียบเทียบกันเพื่อสรรหาผู้ที่สามารถแสดงภูมิความรู้ได้ดีกว่าผู้อื่นเป็นผู้ผ่านการสอบแข่งขัน กระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้เข้าสอบแข่งขันจึงมิใช่เรื่องราวความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของโจทก์ จึงไม่เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลอันได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่ให้เปิดเผย
ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าบรรยายมาในคำฟ้องเกี่ยวกับกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้เข้าสอบแข่งขันเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีรายละเอียดเพียงพอให้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานของคู่ความ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 15,24
แม้ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540มาตรา 37 วรรคสอง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลเป็นที่สุด แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายเพียงว่าเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หรือไม่รับฟังคำคัดค้านมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นประการใดแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยนั้นจะโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยนั้นต่อไปอีกไม่ได้ แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามคณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณาทบทวนและเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำวินิจฉัยนั้น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5ซึ่งตามมาตรา 49 บัญญัติว่า "เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 51 มาตรา 52และมาตรา 53" การที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารพิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยเดิมและมีคำวินิจฉัยใหม่จึงเป็นการกระทำภายในกรอบของกฎหมาย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 15
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 37
  • พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5
  • พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 49

ผู้พิพากษา

กำพล ภู่สุดแสวง
กนก พรรณรักษา
วิชัย วิวิตเสวี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android