คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นวิศวกรผู้คำนวณโครงสร้างการรับน้ำหนักของอาคารจำเลยที่ 9 ในการปลูกสร้างย่อมต้องทราบดีอยู่แล้วว่าอาคารดังกล่าวได้กำหนดการรับน้ำหนักไว้เพียง 4 ชั้นรวมชั้นใต้ดิน แต่จำเลยที่ 1 กลับมาคำนวณออกแบบต่อเติมอาคารโดยที่ทราบดีอยู่แล้วว่าอาคารเดิมรับน้ำหนักส่วนที่ต่อเติมไม่ได้และยังใช้ฐานรากและเสาในแนวซีซึ่งออกแบบให้รับน้ำหนักไว้เพียง 2 ชั้นเป็นจุดเชื่อมต่ออาคารเดิมและอาคารที่ต่อเติม ทำให้น้ำหนักของอาคารทั้งหมดถ่ายเทลงสู่เสาและฐานรากในแนวซีให้ต้องรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเบิกความและยอมรับในฎีกาว่าได้ดูแบบแปลนของอาคารเดิมดูสภาพของอาคารที่มีอยู่เดิมและทราบว่าเสาในแนวซีต้นที่ 176 มีขนาด และส่วนประกอบผิดไปจากแปลน เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามวิธีการอันพึงกระทำในการออกแบบเพราะเดิมจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ออกแบบ เมื่อพบเห็นสภาพอาคารก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนเช่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาข้อมูลที่ถูกต้องให้ได้มากที่สุดว่าโครงสร้างอาคารเดิมมั่นคงแข็งแรงพอจะรับน้ำหนักอาคารในส่วนที่ต่อเติมได้อีกหรือไม่ โดยการสอบถามหรือขอข้อมูลเดิมจากสถาปนิกและวิศวกรที่ออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารเดิม แต่จำเลยที่ 1 ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุที่อาคารจำเลยที่ 9 พังทลายจนเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายก็เป็นเพราะจำเลยที่ 1 คำนวณออกแบบโครงสร้างและการรับน้ำหนักของอาคารไว้ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 โดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ประกอบกับมาตรา 238
กรรมการของจำเลยที่ 9 ตลอดจนจำเลยที่ 15 มิได้เป็นวิศวกร ย่อมไม่อาจทราบถึงความมั่นคงแข็งแรงของอาคารจำเลยที่ 9 ว่าจะต่อเติมได้หรือไม่และใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าการประกอบกิจการโรงแรมต้องต่อใบอนุญาตทุกปีและจำเลยที่ 9 ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงแรมตลอดมา ก่อนออกใบอนุญาตในแต่ละปีจะมีเจ้าพนักงานทั้งของเทศบาลและของจังหวัดมาตรวจสอบอาคารในด้านความมั่นคงปลอดภัย ความสะอาด การระบายอากาศและสุขอนามัย ซึ่งเจ้าพนักงานดังกล่าวไม่เคยทักท้วงว่าอาคารจำเลยที่ 9 ไม่มั่นคงปลอดภัยแต่อย่างใด ประกอบกับกรรมการของจำเลยที่ 9 ตลอดจนจำเลยที่ 15 ล้วนแต่ทำงานหรือใช้ประโยชน์อยู่ในอาคารดังกล่าวทั้งสิ้นหากทราบว่าอาคารไม่มั่นคงปลอดภัยย่อมจะไม่มีผู้ใดยอมเสี่ยงชีวิตเข้าไปทำงานหรือใช้ประโยชน์ในอาคารจำเลยที่ 9 อย่างแน่นอน เพราะทุกคนย่อมรักชีวิตของตนยิ่งกว่าผลประโยชน์รายได้ทางธุรกิจ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 9 ที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 15 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 จึงยังมีความสงสัยตามสมควรตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
การตรวจคำขอก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารนั้นพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 28 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้คำนวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลนและรายการคำนวณที่ได้ยื่นมาพร้อมคำขอตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 หรือมาตรา 24 เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรมให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาแต่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับรายละเอียดตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง" เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคำขอก่อสร้างต่อเติมอาคารของจำเลยที่ 9 มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมเป็นผู้ออกแบบคำนวณโครงสร้างและลงชื่อรับรองมาด้วย จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมไม่จำต้องตรวจแบบแปลนหรือรายการคำนวณโครงสร้างเพื่อให้ทราบว่าโครงสร้างอาคารเดิมมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักอาคารส่วนต่อเติมได้หรือไม่ เพราะเป็นรายละเอียดตามหลักวิศวกรรมศาสตร์ทั้งจำเลยที่ 1 ยังบันทึกหมายเหตุไว้ในใบปะหน้าการคำนวณว่าได้ทำการตรวจสอบดูแล้วฐานรากและส่วนของอาคารเดิมสามารถรับน้ำหนักส่วนต่อเติมได้มาแสดงด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ตรวจคำขอต่อเติมอาคารจำเลยที่ 9 และทำความเห็นเสนอต่อจำเลยที่ 7 และที่ 8 ว่าควรอนุญาตให้จำเลยที่ 9 ต่อเติมอาคารได้ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปโดยชอบแล้ว ส่วนจำเลยที่ 7 และที่ 8 นั้น ได้พิจารณาและสั่งอนุญาตให้ต่อเติมได้ตามความเห็นที่เสนอขึ้นมาโดยชอบของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ทั้งไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นเจตนาพิเศษซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างไร จำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ย่อมไม่มีความผิดตามกฎหมายดังกล่าว
พระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาตรา 28 กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาแต่เฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดตามหลักวิศวกรรมศาสตร์โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งในการคำนวณเกี่ยวกับรายละเอียดของวิศวกรรมนั้นวิศวกรผู้คำนวณและออกแบบจะต้องปฏิบัติตามค่ากำหนดที่ปรากฏในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ ส่วนวิศวกรของเทศบาลผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบทางด้านวิศวกรรมนั้นไม่ต้องตรวจในรายละเอียดของหลักวิศวกรรมศาสตร์ เพียงแต่ต้องตรวจและพิจารณาว่ามีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เมื่อพิจารณาถึงหลักการและเหตุผลในการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 แล้ว เป็นการออกมาเพื่อรองรับมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แม้กฎกระทรวงดังกล่าวจะไม่ได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 28 ก็ตาม โจทก์จะอ้างว่าขณะที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 ตรวจพิจารณาคำขออนุญาตดัดแปลง ต่อเติมอาคารของจำเลยที่ 9 ยังไม่มีการออกกฎกระทรวงรองรับ จึงไม่อาจนำความในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มาใช้ไม่ได้
จำเลยที่ 1 เป็นวิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ย่อมมีความรู้ความชำนาญในการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคารอันเป็นที่เชื่อถือแก่บุคคลทั่วไป การที่จำเลยที่ 1 รับจ้างออกแบบคำนวณต่อเติมและควบคุมการก่อสร้างต่อเติมอาคารเกิดเหตุ ซึ่งเป็นโรงแรมอันเป็นอาคารสาธารณะที่มีประชาชนจำนวนมากมาใช้บริการ จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ความระมัดระวังและคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลเหล่านั้นเป็นพิเศษตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โดยต้องออกแบบและคำนวณโครงสร้างให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่จำเลยที่ 1 กลับประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพโดยไม่ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษและออกแบบไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ อันเป็นเหตุให้อาคารเกิดเหตุพังทลายทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก พฤติการณ์และสภาพความผิดของจำเลยที่ 1 จึงร้ายแรงสมควรลงโทษสถานหนัก