คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 982/2513

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

ฎีกา มีประเด็นปัญหาที่มิได้ว่ากล่าวกันไว้ในชั้นอุทธรณ์ขึ้นมาด้วยฎีกาข้อนี้เป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาย่อมไม่วินิจฉัยให้
สัญญาเช่าเพื่อการปลูกสร้างอาคารที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ชัดเจนพอแล้วว่า ให้ผู้เช่าคือโจทก์จัดการให้ผู้เช่าเดิมออกไปจากสถานที่เช่าให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 3 ปี ทั้งนี้ รวมทั้งการเจรจาหรือโดยการฟ้องร้องต่อศาลทั้งสองประการ และหากผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้ให้เช่าทรงสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที สารสำคัญแห่งสัญญาข้อนี้อยู่ที่ว่า โจทก์จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะให้ผู้เช่าเดิมออกไปให้เสร็จภายใน 3 ปีมิใช่ว่าให้โจทก์ฟ้องภายใน 3 ปี เมื่อโจทก์ไม่สามารถขับไล่ให้เสร็จภายในกำหนด โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที
สัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาแล้วจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาแล้ว ต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 มาปรับแก่คดีโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลย โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับเงินคืนจากจำเลยเฉพาะการงานที่โจทก์ได้กระทำลงไป อันจำเลยได้รับประโยชน์จากการงานนั้นเท่านั้น
ค่าใช้จ่ายในการเจรจาและค่าใช้จ่ายในการฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมออกไปจากสถานที่เช่า เมื่อในสัญญาได้ตกลงไว้ว่าผู้เช่ารับจะเป็นผู้เจรจาให้ผู้เช่าเดิมออกไปจากสถานที่เช่า หากขัดขืนก็เป็นหน้าที่ของผู้เช่าที่จะดำเนินการฟ้องขับไล่เอาเองโดยออกค่าใช้จ่ายด้วยทุนทรัพย์ของผู้เช่าเอง ดังนี้ ค่าใช้จ่ายทั้งสองประการนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่จำเลยผู้ให้เช่าได้รับประโยชน์จากการงานที่โจทก์ผู้เช่าได้กระทำแต่เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ผู้เช่าได้เสียไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนจากจำเลย
ค่าใช้จ่ายในการงาน (การสร้างเขื่อน) ที่ในสัญญาไม่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะต้องกระทำ แต่ได้ความว่าถ้าไม่กระทำการงานนั้นโจทก์ผู้เช่าจะไม่อาจกระทำการก่อสร้างอาคารใหม่ตามสัญญาขึ้นได้โจทก์จึงได้กระทำ (สร้างเขื่อน) ลงและจำเลยผู้ให้เช่าได้ยินยอมเห็นชอบด้วยแล้ว ถือได้ว่าเป็นการงานที่โจทก์ได้ทำขึ้น และจำเลยได้รับประโยชน์จากการงานของโจทก์ จำเลยจึงต้องชดใช้เงินค่าก่อสร้างให้โจทก์
ในกรณีผิดสัญญา สิทธิของคู่สัญญาที่จะบังคับเอาแก่คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดสัญญาย่อมมีอยู่สองประการ คือบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติการชำระหนี้ตามมูลหนี้ประการหนึ่งกับการบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายอีกประการหนึ่ง เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายแล้วก็ย่อมจะบังคับให้โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้
การที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายผิดสัญญาเรียกร้องเป็นเงินค่าที่ทำให้จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ในตึกแถว 30 ห้อง ซึ่งถ้าหากโจทก์ไม่ผิดสัญญา โจทก์จะต้องสร้างให้จำเลยนั้นถือได้ว่าจำเลยฟ้องให้โจทก์สร้างตึกให้จำเลย ถ้าสร้างไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเท่ากับฟ้องบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งจำเลยจะใช้สิทธิดังกล่าวหาได้ไม่ เพราะจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและสัญญาไม่มีผลบังคับแล้ว ราคาตึกที่เรียกร้องจึงไม่ใช่ค่าเสียหายอันจำเลยจะพึงเรียกได้
เงินค่าตอบแทนในการเข้าทำสัญญา เป็นเงินที่คู่สัญญาทำกันไว้ว่า เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยตกลงให้สิทธิต่าง ๆ แก่โจทก์คู่สัญญาโดยกำหนดชำระเงินกันเป็นงวด เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ทำให้จำเลยขาดประโยชน์ที่จะได้รับเงินค่าตอบแทนนี้จึงเป็นค่าเสียหายที่จำเลยจะเรียกร้องจากโจทก์ได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10 ถึง 13/2513)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 372
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 389
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 392
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ผู้พิพากษา

ศริ มลิลา
สว่าง ภูวะปัจฉิม
ฉัตร รัตนทัศนีย์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android