คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 791/2513

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

เหตุสุดวิสัยที่จำเลยอ้างมานั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยผิดสัญญาส่งเหล็กให้แก่โจทก์แล้วประมาณ 7 เดือน จำเลยอ้างเหตุนี้ขึ้นเป็นข้อแก้ตัวเพื่อจะไม่ต้องรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่
การให้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายในกรณีผิดสัญญานั้นก็เพื่อที่จะชดใช้และให้ความพอใจแก่ฝ่ายที่ไม่ผิดสัญญาสำหรับความเสียหายที่ฝ่ายนั้นได้รับจริง ๆ กฎหมายไม่ประสงค์ให้มีการค้ากำไรในการผิดสัญญา
เบี้ยปรับนั้นก็คือค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้านั่นเองเบี้ยปรับจึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย โดยเหตุนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 จึงบัญญัติไว้ว่า ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงก็ได้และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง ก็บัญญัติไว้ว่า ให้เจ้าหนี้เรียกค่าเสียหายได้เต็มจำนวนที่เสียไป โดยให้คิดเบี้ยปรับรวมอยู่ในนั้นด้วย คือให้ถือว่าเบี้ยปรับเป็นจำนวนน้อยที่สุดของค่าเสียหาย
เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเต็มจำนวนที่โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยเสียเบี้ยปรับให้โจทก์อีกไม่ได้เพราะเป็นการเรียกร้องที่นอกเหนือไปจากความเสียหายที่โจทก์ได้รับขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง
จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งของให้โจทก์ตามกำหนด แต่ของที่บริษัท ท.เสนอราคามานั้น มีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่โจทก์กำหนดไว้ ส่วนของ ฮ.มีคุณสมบัติตรงกับที่โจทก์กำหนดไว้ ฉะนั้น การที่โจทก์รับซื้อจาก ฮ. จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบปฏิบัติของทางการรถไฟแต่อย่างใดหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383

ผู้พิพากษา

ศริ มลิลา
สว่าง ภูวะปัจฉิม
ฉัตร รัตนทัศนีย์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android