คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3792/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 18 พ.ย. 2551 10:25:17

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงสถานที่เกิดการกระทำความผิดในข้อหาฉ้อโกง โดยระบุชื่อแขวงและเขตหลายแห่งในกรุงเทพมหานครรวมกันมาและระบุด้วยว่าเกี่ยวพันกันนั้น สถานที่ที่จำเลยได้กล่าวหลอกลวงผู้เสียหายย่อมหมายถึงสถานที่ทำงานของผู้เสียหาย ซึ่งมีที่อยู่ตามแขวงและเขตในกรุงเทพมหานครจำเลยมิได้หลงต่อสู้แต่ประการใด ฟ้องโจทก์ที่บรรยายเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุมาเพียงพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ดี จึงเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาฉ้อโกงโดยอาศัยเหตุว่าฟ้องเคลือบคลุม โจทก์อุทธรณ์ว่าได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนชอบแล้วจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว และข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงในความผิดฐานฉ้อโกงไปเสียเองได้
จำเลยวางแผนหรือสร้างเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นเพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโดยนำเช็คส่วนตัวของจำเลยมาแลกเงินสดจากผู้เสียหายก่อน ต่อมานำเช็คที่บุคคลอื่นลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาขอแลกโดยหลอกลวงว่าผู้สั่งจ่ายมีฐานะดีในตอนแรก ๆ จำนวนเงินตามเช็คไม่สูงนักและเรียกเก็บเงินได้หมดเนื่องจากจำเลยออกเงินให้บุคคลเหล่านั้นไปเปิดบัญชีไว้ตามธนาคารต่าง ๆ และให้เจ้าของบัญชีลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คมอบแก่จำเลยไว้ จำเลยนำเช็คเหล่านี้มากรอกข้อความแล้วนำไปขอแลกเงินจากผู้เสียหาย เมื่อเช็คถึงกำหนดสั่งจ่ายจำเลยก็นำเงินของตนไปเข้าบัญชีของบุคคลดังกล่าวเพื่อให้เช็คเรียกเก็บเงินได้ การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหาย โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยการหลอกลวงดังกล่าวผู้เสียหายหลงเชื่อและได้มอบเงินแก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว
เช็คที่โจทก์นำมาฟ้องมีจำนวนมากถึง 38 ฉบับ และโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่าเช็คแต่ละฉบับนั้นเป็นของธนาคารใดพร้อมกับระบุสาขาของธนาคารอันถือว่าเป็นสถานที่เกิดเหตุที่ธนาคารแห่งนั้นปฏิเสธการจ่ายเงินไว้ด้วยแล้วหาจำเป็นที่จะต้องระบุแขวงและเขตอีกไม่ เพราะการที่โจทก์นำเอาชื่อแขวงและเขตที่เกิดการกระทำผิดไปรวมไว้ในตอนท้ายเพื่อบอกสถานที่เกิดเหตุย่อมเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีแล้ว และจำเลยก็ไม่ได้หลงต่อสู้คดีแต่ประการใด ฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คจึงไม่เคลือบคลุม
แม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค แต่จำเลยเป็นผู้จัดการออกเงินให้เจ้าของบัญชีนำไปขอเปิดบัญชีตามธนาคารต่าง ๆและสั่งให้เจ้าของบัญชีลงลายมือชื่อในเช็คมอบแก่จำเลยไว้จำเลยจะกรอกรายการในเช็คแล้วนำไปแลกเงินสดจากผู้เสียหาย จำเลยจึงเป็นตัวการในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 นั้นหาจำเป็นต้องกระทำโดยบุคคลคนเดียวไม่ บุคคลหลายคนอาจสมคบร่วมกันกระทำผิดได้
โจทก์ร่วมฝากเช็คอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือให้ ก.ไปช่วยเรียกเก็บเงินการที่ ก. นำเช็คนั้นไปเข้าบัญชีเรียกเก็บเงินจึงเป็นการทำแทนโจทก์ร่วมเพราะโจทก์ร่วมมิได้มีเจตนาที่จะโอนเช็คไปยัง ก.แต่ประการใดโจทก์ร่วมจึงยังเป็นผู้ทรงอยู่ ดังนี้เมื่อเช็คฉบับดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123 บัญญัติไว้ใจความว่า คำร้องทุกข์นั้นต้องปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ ดังนี้เมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 1 กับพวกได้กระทำผิดต่อโจทก์ร่วม (ผู้เสียหาย)เมื่อปรากฏต่อมาว่าพวกของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ร่วมอยู่ด้วย ก็ถือว่าได้มีการร้องทุกข์สำหรับจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208
  • พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 123
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 918

ผู้พิพากษา

สุรัตน์ ศรีอนุพันธุ์
ยนต์ พิรวินิจ
สมประสงค์ พานิชอัตรา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android