คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

โจทก์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน แต่จำเลยที่ 2 อธิบดีกรมแรงงานปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนแสดงว่าโจทก์เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน แม้สหภาพแรงงานนั้นจะเป็นผู้ขอจดทะเบียนและจำเลยที่ 2 ปฏิเสธไปยังสหภาพแรงงานก็ตาม ย่อมมีผลโดยตรงต่อโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นกรรมการสหภาพแรงงานทำให้ไม่ได้สิทธิและประโยชน์อันจะพึงได้รับจากการเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน โจทก์จึงถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 91 ที่บัญญัติให้ผู้ขอจดทะเบียนอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อนมาฟ้องศาลนั้น เป็นเรื่องของร่างข้อบังคับเมื่อแรกจัดตั้งสหภาพแรงงาน และกรณีตามมาตรา 94ซึ่งเป็นเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับโดยให้นำมาตรา91มาใช้บังคับโดยอนุโลม ก็เป็นเรื่องของข้อบังคับเช่นเดียวกัน ส่วนการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการซึ่งพ้นตำแหน่งไปตามวาระหรือตามข้อบังคับ เป็นเรื่องเกี่ยวด้วยบุคคลไม่ใช่ข้อบังคับจะนำบทบัญญัติมาตรา 91 และ 94 มาใช้ไม่ได้ กรณีนี้ไม่มีบทมาตราใดกำหนดขั้นตอนไว้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลแรงงานกลางโดยไม่ต้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 2ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อน
ระเบียบปฏิบัติงานว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยกำหนดโทษผิดวินัยมีเพียง 6 สถานคือ ไล่ออก ปลดออก ให้ออก ลดขั้นเงินเดือนตัดเงินเดือน และภาคทัณฑ์ ดังนี้การว่ากล่าวตักเตือนจึงไม่เป็นโทษทางวินัย ส่วนทัณฑ์บนเป็นถ้อยคำหรือหนังสือสัญญาที่ผู้ใต้บังคับบัญชาทำถึงผู้บังคับบัญชา มิใช่เป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวเอาแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ต่างกับการภาคทัณฑ์ จึงไม่ใช่โทษทางวินัย การที่โจทก์มีอำนาจว่ากล่าวตักเตือนหรือมีอำนาจให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทำทัณฑ์บน แม้จะมีผลนำไปประกอบการพิจารณาความดีความชอบของลูกจ้างก็หาใช่เป็นอำนาจในการลงโทษตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา95 วรรคสองไม่ เพราะอำนาจลงโทษตามมาตรานี้จะต้องเป็นอำนาจโดยตรง มิใช่ถือเอาแต่ผลหรือถือเอาแต่เพียงมีอำนาจรายงานหรือเสนอต่อผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไป ดังนี้จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาตามมาตราดังกล่าว และไม่ขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการสหภาพแรงงานตามมาตรา 101(1) (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1677-1678/2526 และ 2471/2527)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 90
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 91
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 94
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 95
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 101

ผู้พิพากษา

จุนท์ จันทรวงศ์
สมบูรณ์ บุญภินนท์
เพียร สุมิระ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android