คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3479/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

จำเลยที่ 2 และที่ 4 เคยเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนจำเลยที่ 1 แต่ได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนก่อนที่โจทก์จะฟ้องห้างจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลาย จำเลยที่ 2 และที่ 4ย่อมมิใช่หุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ในขณะโจทก์ฟ้องคดีและขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแม้จำเลยที่ 2 และที่ 4 มีความรับผิดในฐานะของผู้เป็นหุ้นส่วนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะออกจากหุ้นส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1068 ก็ตาม แต่ถ้าโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าขณะโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 4 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ก็ไม่มีเหตุที่จะพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 และที่ 4 เด็ดขาด
จำเลยที่ 5 เป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ 1 ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อห้างจำเลยที่ 1ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ฟ้องทั้งห้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5ผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมกับหุ้นส่วนอื่น ๆ ให้ล้มละลายศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ห้างจำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วเช่นนี้โจทก์ก็ไม่จำต้องนำสืบว่าจำเลยที่ 5 ผู้เป็นหุ้นส่วนมีหนี้สินล้นพ้นตัวด้วย กรณีมีเหตุที่จำเลยที่ 5จะต้องล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่จำเป็นต้องมีคำขอให้จำเลยที่ 5ล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 โดยอาศัยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483มาตรา 89 อีก
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1025
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1068
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070
  • พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 7
  • พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8
  • พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9
  • พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14
  • พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89

ผู้พิพากษา

ประการ กาญจนศูนย์
ประพันธ์ ผลฉาย
พรจิตต์ ดียืน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android