คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2905/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งมิได้กำหนดหรือแบ่งแยกประเภทของลูกจ้างที่มีสิทธิฟ้องร้องไว้ ลูกจ้างทุกประเภทจึงมีสิทธิฟ้องนายจ้างได้เมื่อถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายวันหรือลูกจ้างประจำก็ย่อมได้รับความคุ้มครองจากบทกฎหมายดังกล่าวเช่นเดียวกัน
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 49 บัญญัติให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างว่ากรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่มีเหตุอันสมควร ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องบังคับให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือใช้ค่าเสียหายได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยประสงค์เพียงจะรับทหารผ่านศึกซึ่งพิการทุพพลภาพและครอบครัวเข้าทำงานแทนโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำผิดวินัยประการใด ย่อมเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความกระทบกระเทือนต่อการประกอบอาชีพตามปกติ จึงไม่ใช่เหตุอันสมควร ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้เพราะมีงบประมาณจำกัดและไม่มีตำแหน่งงานให้โจทก์ ในข้อนี้จำเลยมิได้ให้การเป็นประเด็นไว้ในคำให้การ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มาตรา 49

ผู้พิพากษา

เพียร สุมิระ
สมบูรณ์ บุญภินนท์
สุพจน์ นาถะพินธุ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android