คำพิพากษาย่อสั้น
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ซึ่งมิได้บัญญัติให้คู่ความต้องโต้แย้งคำสั่งไว้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นได้โดยไม่ต้องโต้แย้งคำสั่งนั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีเพื่อมีคำสั่งให้ระงับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำ และผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้มีคำส่งระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยเด็ดขาด โดยโจทก์ได้แนบคำสั่งของนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งดังกล่าวของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เท้าความอ้างเหตุว่า มีการดำเนินการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดมลภาวะและความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนและประเทศชาติโดยรวม ในตอนท้ายคำสั่งมีข้อความว่า จึงมีคำสั่งให้ระงับการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในเขตพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยเด็ดขาด จากคำสั่งดังกล่าวมีความหมายอยู่ในตัวว่าให้ระงับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำ แม้ตอนท้ายของคำสั่งจะมิได้ระบุคำว่าระบบความเค็มต่ำตอนท้ายคำว่ากุ้งกุลาดำเอาไว้ แต่ตอนต้นของคำสั่งได้เท้าความอ้างเหตุความเสียหายของการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำเอาไว้ คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ออกตามที่ได้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีโดยถูกต้องและเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องต่อมาว่า จำเลยเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำ 9 บ่อ แต่ละบ่อมีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ ในเขตหมู่ที่ 1 ตำบลหนองน้ำใหญ่ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาย่อมมีความหมายว่า จำเลยเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบความเค็มต่ำซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นเอง คำฟ้องของโจทก์ได้ระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้วหาเคลือบคลุมไม่
คำสั่งของนายกรัฐมนตรี และคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่แนบท้ายฟ้อง เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่โจทก์จะต้องนำสืบถึงความมีอยู่จริงของเอกสารและความถูกต้องแท้จริงของเอกสาร หาใช่ข้อกฎหมายที่โจทก์อ้างมาท้ายฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ไม่