คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 977/2550

 แหล่งที่มา: สำนักวิชาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 13 มี.ค. 2551 16:47:30

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การเพิ่มเติมประเด็นฟ้องซ้อน เป็นการขอแก้ไขเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 จึงอาจขอแก้ไขได้ก่อนศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
กรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานความผิดยักยอกทรัพย์และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้นอาจเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องได้สองทาง คือในมูลละเมิดและในมูลแห่งสัญญาจ้างแรงงานที่มีต่อกันอยู่ ในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ถึงแม้คำขอบังคับจะเป็นอย่างเดียวกันคือ ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นมิได้เป็นอย่างเดียวกัน ในคดีอาญานั้นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้น มาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงาน และคำฟ้องของโจทก์กรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นอำนาจของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ผู้พิพากษา

จรัส พวงมณี
วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
ชุติมา จงสงวน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android