คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3453/2549

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 30 พ.ย. 2550 15:44:20

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างจะกำหนดว่าพนักงานและลูกจ้างผู้ใดดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่การงาน เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่โจทก์ออกไปดื่มสุราเพียงเล็กน้อยนอกที่ทำการในขณะใกล้หมดเวลาการทำงานแล้ว เหลือเพียงแต่รอเวลาทำหน้าที่กรรมการปิดตู้นิรภัยเท่านั้น ไม่มีอาการมึนเมาสุรา โจทก์มิได้กล่าวคำขู่อาฆาตผู้บังคับบัญชาเพียงแต่โต้เถียงกันเล็กน้อย ทั้งโจทก์ยังสามารถกลับมาร่วมปิดตู้นิรภัยได้โดยไม่ได้ทำให้งานในหน้าที่เสียหาย ซึ่งการพิจารณาว่าการกระทำผิดใดจะถือเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ ต้องพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นราย ๆ ไป หาใช่เมื่อดื่มสุราแล้วแม้เพียงเล็กน้อยก็เป็นความผิดร้ายแรงทันที การกระทำผิดของโจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดในกรณีร้ายแรง การลงโทษโจทก์จึงต้องเป็นไปตามข้อบังคับข้อ 69 ซึ่งให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ตัดเงินค่าจ้าง ลดขั้นเงินเดือนหรือลดค่าจ้างตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมแก่ความผิดเท่านั้น ไม่มีกรณีต้องให้ออกจากงาน การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งลงโทษโดยให้โจทก์ออกจากงานจึงเป็นการลงโทษที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนโจทก์ 1 ขั้น ตามคำสั่งที่ 5173/2545 แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานโดยต้องจ่ายค่าจ้างในอัตราเดิมนั้น แม้โจทก์จะกระทำความผิดและการลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้นตามคำสั่งที่ 5173/2545 จะชอบด้วยข้อบังคับข้อ 69 แต่จำเลยที่ 1 ได้ออกคำสั่งที่ 51238/2545 ให้ยกเลิกโทษตามคำสั่งที่ 5173/2545 ไปแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ยังมิได้ถูกลงโทษสำหรับความผิดที่โจทก์กระทำ จำเลยที่ 1 ไม่อาจอ้างคำสั่งดังกล่าวมาเป็นเหตุไม่จ่ายเงินตามที่จำเลยที่ 1 อ้างได้อีก
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6

ผู้พิพากษา

วิเทพ พัชรภิญโญพงศ์
ชวลิต ยอดเณร
วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android