คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2548

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์นำรถยนต์ที่จำเลยเช่ามาให้ทำงานของจำเลยขับพาภริยาและบุตรของโจทก์ไปเที่ยวแล้วเกิดอุบัติเหตุ ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายอย่างมาก เป็นการนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา เป็นการไม่ซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยการอาศัยตำแหน่งหน้าที่ที่สามารถนำรถยนต์ของจำเลยไปใช้ในการทำงานได้ ขับไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทำให้จำเลยไม่มีรถยนต์ใช้ปฏิบัติงานนานถึง 2 สัปดาห์ ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย
จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยต้องชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ จึงจะเป็นการชำระหนี้โดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 208 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยเสนอขอรับชำระหนี้แก่โจทก์โดยมีเงื่อนไขจำกัดตัดสิทธิอื่น ๆ อันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จึงมิใช่เป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบโจทก์ย่อมปฏิเสธการรับชำระหนี้ได้โจทก์จึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 207 เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในหนี้เงินค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง
โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 15 ต่อทุก 7 วัน ของเงินค่าจ้างค้างจ่ายให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยยอมจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับ จึงไม่ถือว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ต่อทุก 7 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง ให้แก่โจทก์ แต่พออนุโลมได้ว่าโจทก์ขอให้จ่ายดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาด้วย เพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 208
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 207

ผู้พิพากษา

รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์
ชวลิต ยอดเณร
ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android