คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 923/2549

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
สัญญาเช่าอาคารทั้งสองฉบับครบกำหนดเวลาเช่าตามที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว สัญญาเช่าย่อมระงับลง โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อน จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่ามีหน้าที่ต้องส่งคืนอาคารที่เช่าแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่า การที่จำเลยไม่ยอมส่งคืนอาคารที่เช่า เป็นการผิดสัญญาเช่าและการที่จำเลยยังครอบครองอาคารที่เช่าต่อไปโดยโจทก์ไม่ยินยอมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ทั้งฐานผิดสัญญาและฐานละเมิด เพียงแต่เมื่อใช้สิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับฐานผิดสัญญาแล้วโจทก์ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดได้ เพราะเป็นค่าเสียหายมูลกรณีเดียวกัน
สัญญาเช่าอาคารห้องเลขที่ 10 ข้อ 1 วรรคสองระบุว่า เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนดหรือสิ้นสุดลงด้วยเหตุใดก็ตาม "ผู้เช่า" ต้องส่งมอบสถานที่เช่าคืนให้แก่ "ผู้ให้เช่า" ทันที ในกรณีที่ "ผู้เช่า" ไม่สามารถส่งมอบสถานที่เช่าคืนให้แก่ "ผู้ให้เช่า" "ผู้เช่า" ยินยอมชำระค่าปรับให้แก่ "ผู้ให้เช่า" วันละ 2,000 บาท นับแต่วันครบกำหนดส่งมอบจนถึงวันที่ได้ส่งมอบสถานที่เช่าคืนให้แก่ "ผู้ให้เช่า" เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นข้อตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่ผู้เช่าผิดสัญญาไม่สามารถส่งมอบอาคารที่เช่าคืนให้แก่ผู้ให้เช่าในทันที โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าข้อ 1 วรรคสอง ได้ แต่เบี้ยปรับที่กำหนดไว้นั้นสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
สัญญาเช่าอาคารห้องเลขที่ 11 ข้อ 8 วรรคสอง ระบุว่า เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม "ผู้เช่า" จะต้องย้ายออกไปจากที่เช่าทันที ถ้าไม่ขนย้ายออกไปยอมให้ค่าเสียหายค่าปรับเป็นเงินวันละ 2,000 บาท แก่ "ผู้ให้เช่า" ทุกวันจนกว่าจะขนย้ายออกไป ซึ่งระบุเงื่อนไขในการยอมให้ค่าเสียหายเฉพาะกรณีมีการบอกเลิกสัญญาเช่าเท่านั้น แตกต่างจากสัญญาเช่าอาคารห้องเลขที่ 10 แต่แม้จะเป็นกรณีที่สัญญาเช่าสิ้นสุดหรือระงับลงเพราะครบกำหนดเวลาเช่าไม่เข้าเงื่อนไขที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเช่า แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิดได้ซึ่งโจทก์ได้บรรยายมาในฟ้องและนำสืบถึงจำนวนค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดแล้ว ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 537
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379

ผู้พิพากษา

สมชัย จึงประเสริฐ
พีรพล จันทร์สว่าง
บุญรอด ตันประเสริฐ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android