คำพิพากษาย่อสั้น
ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองบรรยายว่า โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้มีประกันภัยได้นำรถยนต์ซึ่งเอาประกันภัยไว้ไปประสบอุบัติเหตุจนได้รับอันตรายสาหัส ระบบขับถ่ายและการย่อยอาหารผิดปกติมีอาการปวดท้องเป็นบางครั้งและไม่หาย เรี่ยวแรงลดน้อยถอยลงจนไม่อาจทำงานหนักที่โจทก์ที่ 2 ต้องทำเป็นประจำได้ บาดแผลภายในเกิดการอักเสบ โจทก์ที่ 2 ถูกตัดลำไส้บางส่วนออกไปประมาณ 20 เซนติเมตร ทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมา จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ทุพพลภาพถาวร ซึ่งตามเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์กำหนดให้จำเลยต้องจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้มีประกันภัยคือ โจทก์ที่ 2 ผู้ได้รับอุบัติเหตุทุพพลภาพถาวรในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท โจทก์ทั้งสองจึงขอใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าทดแทนดังกล่าวตามสัญญาในฐานะคู่สัญญาและในฐานะผู้รับประโยชน์ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 100,000 บาท ตามคำฟ้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยโดยบรรยายให้เห็นว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บอย่างไรและมีอาการอย่างไร คำฟ้องโดยหลักเป็นเรื่องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าจึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ผู้มีประกันภัยทุพพลภาพถาวรนั้น เป็นความคิดเห็นของโจทก์ทั้งสองถึงลักษณะของบาดแผล อาการบาดเจ็บและผลที่เกิดขึ้น เมื่อศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไม่ใช่ทุพพลภาพถาวร แต่เป็นเรื่องทุพพลภาพชั่วคราว ศาลมีอำนาจพิพากษาได้เพราะคำฟ้องโจทก์ทั้งสองบรรยายครอบคลุมถึงอยู่แล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยเหตุโจทก์ทุพพลภาพชั่วคราวจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
สัญญาประกันภัยคุ้มครองการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล 4 ข้อ ข้อ 1 เสียชีวิต ข้อ 2 สูญเสียมือ เท้า สายตา ข้อ 3 ทุพพลภาพถาวร ข้อ 4 ทุพพลภาพชั่วคราว จำนวนเงินเอาประกันภัยต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งไม่เกิน 100,000 บาท ไม่มีข้อสัญญาข้อใดระบุยกเว้นไว้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดกรณีทุพพลภาพชั่วคราว จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามข้อสัญญาที่ระบุไว้ดังกล่าว