คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 693/2530

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโจทก์มอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนซึ่งตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โจทก์เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีฐานะเป็นบุคคลและเอกสารที่มอบอำนาจดังกล่าวก็ปรากฏว่าโจทก์มอบอำนาจของโจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 ดังนี้อำนาจของหัวหน้าเขตที่ได้กระทำแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการกระทำของโจทก์เองโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 มาตรา 33กำหนดให้ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในกรณีที่ผู้ว่าฯและรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นใดนอกจากการออกตามวาระ การที่ปลัดกรุงเทพมหานครลงนามในคำสั่งมอบอำนาจให้หัวหน้าเขตปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้ว่า ฯ ย่อมเป็นการกระทำตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเมื่อจำเลยไม่สืบหักล้างว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างไรจึงต้องถือว่าคำสั่งมอบอำนาจนั้นชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้อง
การฟ้องขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร มิได้สืบเนื่องมาจากมูลความผิดทางอาญาในความผิดต่อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำข้อเท็จจริงในคดีอาญามารับฟังเป็นยุติในคดีแพ่งหาได้ไม่
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522ข้อ 76(4) กำหนดให้ต้องมีที่ว่างโดยปราศจากสิ่งปกคลุมเป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกัน กว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร และมีกฎกระทรวง (พ.ศ.2498) ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคารพุทธศักราช 2479 ข้อ 21 บังคับมาแต่เดิมแล้วว่า ห้องแถว ตึกแถวให้ทำกว้างไม่น้อยกว่า 350 เซนติเมตรระหว่างผนัง และต้องมีทางคนเข้าออกได้ทั้งข้างหน้ากับข้างหลัง เช่นนี้ หากปรากฏว่าเดิมมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ด้านหลังอาคารพิพาทเต็มเนื้อที่จริง ก็เป็นเรื่องที่ผู้อาศัยแต่เดิมทำผิดกฎหมายมาแต่แรกจำเลยจะอาศัยการกระทำของผู้อื่นที่ผิดกฎหมายมาสวมรอยเพื่อซ่อมแซมหรือดัดแปลงให้เหมือนของเดิมหรือผิดแผกแตกต่างไปบ้างหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยจึงขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าว จำเลยต้องรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมนั้นออกไป.(ที่มา-ส่งเสริม)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
  • พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 มาตรา 33
  • พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 มาตรา 35
  • พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 35
  • พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 35

ผู้พิพากษา

สหัส สิงหวิริยะ
เสวก จันทร์ผ่อง
สุทิน นนทแก้ว

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android