คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 663/2530

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

ซีอิ๊วของกลางส่วนหนึ่งที่ขวดปิดฉลากเครื่องหมายการค้าปลอมระบุว่าผลิตที่แห่งหนึ่ง แต่ความจริงผลิตที่อีกแห่งหนึ่งเช่นนี้เป็นการหลอกลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเรื่องสถานที่ที่ผลิต ซีอิ๊วของกลางจึงเป็นอาหารปลอม ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 27(4)
โจทก์มีแต่คำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยว่า จำเลยซื้อเครื่องหมายการค้าปลอมจากผู้อื่นแล้วให้ลูกจ้างปิดฉลากเครื่องหมายการค้านั้นที่ขวดซีอิ๊ว โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำปลอมขึ้น พฤติการณ์เพียงเท่านี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273 แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการเอาชื่อรูป รอยประดิษฐ์และข้อความในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 272(1) ซึ่งโจทก์มิได้ระบุขอให้ลงโทษ แต่ตามคำบรรยายฟ้องพอถือได้ว่าบรรยายฟ้องรวมการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 272(1) ไว้ด้วย จึงลงโทษจำเลยตามมาตรา 272(1) ซึ่งมีโทษเบากว่ามาตรา 273 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคท้าย และการกระทำผิดดังกล่าวเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้ฎีกา.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 273
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213
  • พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 27

ผู้พิพากษา

ส่อง สุขะปุณณพันธ์
เสนอ ศรนิยม
ยรรยง อิทธิพงษ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android