คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 593/2530

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

การประกวดราคาก่อสร้างอาคารเรียนของจำเลย ปรากฏว่าเมื่อเปิดซองประมูลโจทก์เป็นผู้ประมูลในราคาต่ำสุด แต่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประกวดราคาก่อสร้างดังกล่าว จำเลยได้สงวนสิทธิไว้ว่าจำเลยมีสิทธิจะตกลงจ้างผู้ยื่นซองประกวดราคารายใดก็ได้ไม่จำเป็นที่จะต้องจ้างผู้เสนอราคาต่ำเสมอไป จะจ้างผู้รับเหมารายเดียวกันหรือแยกจ้างหลายรายหรือจะไม่ตกลงจ้างทุกรายก็ได้ในเมื่อมีเหตุอันสมควร จึงยังถือไม่ได้ว่า โจทก์ผู้เสนอราคาต่ำสุดจะเป็นผู้ประมูลได้
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติให้จ้างโจทก์เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2525 และโดยที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประกวดราคาข้อ 6 มีว่า 'ฯลฯ ผลการประกวดราคาไม่ผูกพันว่าจังหวัดจะต้องแจ้งให้ผู้ยื่นซองประกวดราคาทราบ เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้ยื่นซองประกวดราคาจะต้องติดต่อสอบถาม หรือดูประกาศผลการประกวดราคาเอง' ดังนั้นจำเลยจึงไม่มีหน้าที่จะต้องแจ้งผลการประกวดราคาให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์ทราบว่าตนชนะการประกวดราคาเป็นผู้ประมูลได้ในวันที่ 6กรกฎาคม 2525
เมื่อโจทก์ทราบว่าตนประมูลได้แล้ว การมาทำสัญญาต้องบังคับตามประกาศประกวดราคาข้อ 10 ซึ่งระบุว่า 'ผู้ยื่นซองประกวดราคาได้ต้องมาทำสัญญาจ้างภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ทางราชการแจ้งให้ทราบ ฯลฯ' โจทก์ได้รับจดหมายของจำเลยให้ไปทำสัญญาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2525 ดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือขอทำสัญญากับจำเลยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2525 ก่อนได้รับจดหมายของจำเลย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประกวดราคาและทิ้งงาน
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีและฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดอุบลราชธานีจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ข้อนี้เป็นปัญหาในเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง.(ที่มา-ส่งเสริม)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

ผู้พิพากษา

สมศักดิ์ เกิดลาภผล
สาระ เสาวมล
สุนทร จันทรศักดิ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android