คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3544/2542

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้การที่ ร. ให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรส โดยเสน่หาแก่จำเลยโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(5) และ 1479 และโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เรื่องที่ ร. จดทะเบียนการให้ที่ดินแก่จำเลยหรือภายใน 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนการให้ตาม มาตรา 1480 ได้ก็ตาม แต่โจทก์ยังมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ดังนี้ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่และจำเลยครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื่องจากได้รับยกให้จาก ร. จำเลยจึงไม่มีหน้าที่แบ่งสินสมรสดังกล่าวของ ร. ให้โจทก์ การทำพินัยกรรม มิใช่เป็นการจัดการสินสมรสที่จะต้องได้รับความยินยอมคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง แม้ ร.มีสิทธิทำพินัยกรรมยกบ้านพิพาทที่เป็นสินสมรสระหว่างร.กับโจทก์ที่ร.มีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 วรรคสอง ได้ก็ตาม แต่ ร. ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในบ้านส่วนของโจทก์อีกครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยได้ การที่ ร. ทำพินัยกรรมยกบ้านสินสมรสทั้งหลังให้แก่จำเลยจึงไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิฟ้องติดตามเอาคืนทรัพย์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ โดยโจทก์ไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรม ของ ร. ก่อน
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/22
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1479
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480

ผู้พิพากษา

สกนธ์ กฤติยาวงศ์
กมล เพียรพิทักษ์
ทองหล่อ โฉมงาม

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android