คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1893/2533

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน ปรับ 1,000 บาทโทษจำคุกรอไว้ 1 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก1 ปี จำเลยฎีกาว่าคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหาย เป็นปัญหาข้อเท็จจริง คดีจึงต้องห้าม ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517 มาตรา 6 วันเกิดเหตุเวลา 11 นาฬิกา ผู้เสียหายไปที่บ้านจำเลยเพื่อ ปรับความเข้าใจกับจำเลยถึง เรื่องที่ผู้เสียหายถูก หาว่าเป็นชู้ กับภริยาจำเลยระหว่างที่จำเลยไปทำงานต่างประเทศประมาณ 10 นาที ก็กลับไป เวลา 15 นาฬิกา วันเดียวกันผู้เสียหายเมาสุรากลับมา ที่บ้านจำเลยเคาะประตูเรียกภรรยาจำเลยอ้างว่า ลืมหมูไว้ จำเลย เปิดประตูออกมาบอกว่าหมูไม่มีและไม่ยอมให้ผู้เสียหายเข้าไปในบ้าน ผู้เสียหายจึงได้ ชกเตะ ต่อย จำเลยแล้วเกิดการต่อสู้ กัน ผู้เสียหาย ใช้ ขวดสุราตี และถีบ จำเลยล้มลง จำเลยวิ่งเข้าไปเอามีดในครัว มาแทงผู้เสียหาย ดังนี้ ขณะที่จำเลยใช้ มีดแทงไม่ปรากฏว่าผู้เสียหาย ได้ ก่อภัยอันใด ขึ้นที่จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตัว การที่จำเลย ใช้มีดแทงผู้เสียหายจึงไม่เป็นการป้องกันโดย ชอบด้วย กฎหมาย การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์แก้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยฐาน ทำร้าย ร่างกายและรอการลงโทษไว้เป็นลงโทษจำเลย ฐาน พยายาม ฆ่า ผู้อื่นตาม ที่โจทก์ฟ้อง เท่ากับเป็นการอุทธรณ์ขอให้ เพิ่มโทษและคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้รอการลงโทษไปในตัว เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะใช้ ดุลพินิจ กำหนดโทษตาม ที่เห็นสมควรได้การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษ จึงหาได้ ฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ.มาตรา 192 ประกอบด้วย มาตรา 215 ไม่ การจะเป็นอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297(8) หรือไม่ต้อง พิจารณาจากผลของการทำร้ายว่าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำต้องทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วย อาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตาม ปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันหรือไม่ มิใช่ต้อง พิจารณาเฉพาะ จากบาดแผลที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนภายนอก เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเจ็บที่ท้องจนประกอบกรณียกิจ ตาม ปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ย่อมถือ ว่าผู้เสียหายได้ รับอันตรายสาหัสแล้ว แม้เป็นคดีที่ฎีกาได้ เฉพาะ ปัญหาข้อกฎหมาย แต่ ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ เหตุที่เกิดขึ้นเพราะผู้เสียหายเป็นฝ่ายรุกรานก้าวร้าวก่อเหตุขึ้นก่อนส่วนจำเลยซึ่ง ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนถูก ขังในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นถึง 1 เดือน เศษ เพียงพอที่จะทำให้รู้สึกตัวกลัวผิดแล้ว ทั้งผู้เสียหายก็ไม่ประสงค์จะเอาเรื่องกับจำเลย กรณีจึงสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ได้.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 215
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225

ผู้พิพากษา

เดชา สุวรรณโณ
อัมพร เดชศิริ
ประจักษ์ พุทธิสมบัติ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android