คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4505/2531

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คนร้ายสามคนสวมหมวกไหมพรมแบบอ้ายโม่งเห็นเฉพาะใบหน้าบางส่วน คนร้ายใช้อาวุธปืนจี้บังคับให้ผู้เสียหายคุกเข่าก้มหน้าหมอบลงกับพื้น โดยผู้เสียหายคงได้ยินเสียงคนร้ายเท่านั้นดังนั้นคำเบิกความของผู้เสียหายที่ระบุว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายเพราะจำเสียงได้นั้นจึงมีน้ำหนักน้อยเพราะเสียงพูดของบุคคลแต่ละคนอาจเหมือนหรือคล้ายคลึงกันได้ หรืออาจเลียนแบบให้เหมือนหรือคล้ายคลึงกันได้ นอกจากนี้พยานโจทก์มิได้ระบุชื่อคนร้ายในขณะที่พบกับร้อยตำรวจโท จ. ในโอกาสแรก แต่เพิ่งระบุชื่อหลังจากร้อยตำรวจโท จ. กลับจากดูที่เกิดเหตุแล้ว ทั้งจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ในคดีปล้นทรัพย์ได้ แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนร่วมกับพวกทำการปล้นทรัพย์แล้ว ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องโจทก์ในความผิดแต่ละกระทงดังกล่าวได้ เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาวินิจฉัยยกฟ้องจำเลยที่ 2เป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาให้มิต้องรับโทษได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227

ผู้พิพากษา

นำชัย สุนทรพินิจกิจ
บุญส่ง คล้ายแก้ว
ไมตรี กลั่นนุรักษ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android