คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2531

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์มีหนังสือรับรองของเจ้าพนักงานโนตารีปับลิก แห่งประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันมาแสดงต่อศาล ซึ่งมีข้อความรับรองว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ได้รับการลงนามและประทับตรากำกับในนามของบริษัท โดยคำสั่งของคณะกรรมการและผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองได้กระทำเพื่อบริษัทดังกล่าวแล้วทุกประการ จำเลยมิได้คัดค้านว่าหนังสือรับรองดังกล่าวเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้องทั้งมิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ลงลายมือชื่อไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เช่นนี้ ผู้มอบอำนาจเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ได้ การมอบอำนาจจึงถูกต้องใช้ได้ โจทก์ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าใช้กับรองเท้าเป็นรูปแถบโค้งประดิษฐ์และรูปแถบโค้งประดิษฐ์ประกอบอักษรโรมันคำว่าPUMA(พูม่า)โดยติดอยู่ข้างรองเท้าสินค้าของโจทก์มีลักษณะโค้งมนส่วนล่างกว้าง 5 เซนติเมตรครึ่ง แล้วค่อย ๆ รีเล็กลง ส่วนที่จรดกับตะเข็บเส้นรองเท้ากว้างเพียง 1 เซนติเมตร เครื่องหมายนี้ต่างกับลักษณะของตะเข็บรองเท้าทั่ว ๆ ไป และมีสีสรรสวยงามตัดกับสีพื้นรองเท้ามองเห็นอย่างเด่นชัด จึงถือได้ว่าเครื่องหมายแถบโค้งดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าตามความในมาตรา 3 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 2 แบบ เป็นรูปประดิษฐ์ลักษณะเหมือนกล้องยาเส้นหงายขึ้นและตะขอหงาย จึงแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่จำเลยผลิตและจำหน่ายรองเท้าโดยใช้เครื่องหมายแถบโค้งเหมือนกับของโจทก์ทุกประการ สินค้ารองเท้าบางแบบของจำเลยเพียงแต่มาประทับตัวหนังสืออักษรโรมันคำว่า LONGHORNไว้ที่หุ้มข้อด้านหลังเหนือแถบโค้งที่เรียว มาบรรจบกันเท่านั้น ซึ่งต่างไปจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีอักษรโรมันว่า PUMAบ้างหรือรูปเสือกำลังกระโจนอยู่เหนือแถบโค้งบ้างที่ลิ้นรองเท้าบ้างเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ มีรูปแถบโค้งเป็นส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเพราะเป็นส่วนที่เห็นได้เด่นชัดที่สุด และมีรูปตัวอักษรโรมัน PUMA หรือรูปเสือกระโจนเป็นส่วนประกอบรองหรือส่วนประกอบย่อย เพราะประชาชนมุ่งดูรูปแถบโค้งเป็นที่หมายแห่งสินค้าของโจทก์ยิ่งกว่าดูรูปตัวอักษรโรมันPUMA หรือรูปเสือกระโจน การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าลักษณะดังกล่าวเหมือนหรือคล้ายกันกับของจำเลยหรือไม่ จำต้องพิจารณาส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นเกณฑ์ เมื่อส่วนประกอบหลักหรือส่วนประกอบสำคัญเป็นรูปแถบโค้งเหมือนกันอย่างเห็นได้โดยเด่นชัดแม้ส่วนประกอบรองหรือส่วนประกอบปลีกย่อยจะต่างกันซึ่งมองเห็นได้ยากจึงถือได้ว่าจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และการที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ลักษณะหนึ่งซึ่งต่างกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่นำมาใช้อีกอย่างหนึ่งแตกต่างจากที่ขอจดทะเบียนไว้โดยใช้ให้เหมือนกับของโจทก์ แสดงถึงเจตนาอันไม่สุจริตของจำเลยและเป็นการจงใจเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 3
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 4
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 22

ผู้พิพากษา

วิศิษฏ์ ลิมานนท์
จำนง นิยมวิภาต
ปิ่นทิพย์ สุจริตกุล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android