คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2531

 แหล่งที่มา: เนติบัณฑิตยสภา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พยานบุคคลที่เบิกความให้ความเห็นโดยสุจริตและเป็นธรรม ย่อมรับฟังความเห็นนั้นประกอบกับข้อความที่อ้างว่าเป็นหมิ่นประมาทได้ พระบรมมหาราชวัง เป็นของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงสร้างขึ้นไว้เพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์และพระบรมราชินี เป็นที่ประสูติพระราชโอรสและพระราชธิดาพระราชโอรสทรงเป็นรัชทายาทที่จะสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปในเมื่อแผ่นดินว่างกษัตริย์ ลงคนภายนอกจะมาเกิดในพระบรมมหาราชวัง มิได้ ดังนั้น ข้อความที่จำเลยกล่าวต่อประชาชนว่าถ้าจำเลยเลือกเกิดได้ จะเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระ แม้จำเลยจะมิได้ระบุชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยชัดแจ้งแต่ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบก็แปลเจตนาของจำเลยได้ว่าจำเลยกล่าวโดยมุ่งหมายถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯสยามมงกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาท ข้อความที่จำเลยกล่าว จะเป็นการใส่ความในประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดำรงอยู่และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ประกอบด้วย ซึ่งปรากฏตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยประกอบกับประมวลกฎหมายอาญาอย่างแจ้งชัดว่าองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิและเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศตลอดไปแม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯตลอดมาตั้งแต่โบราณกาลการที่จะกล่าววาจาจาบจ้วงล่วงเกินเปรียบเทียบเปรียบเปรยหรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทนั้น หามีบุคคลใดกล้าบังอาจไม่ จำเลยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการและเลขาธิการพรรคการเมือง ได้กล่าวต่อประชาชนเพื่อช่วยหาเสียงให้แก่สมาชิกพรรคการเมืองของตนมีความว่า ถ้าเลือกเกิดได้ จะเลือกเกิดใจกลางพระบรมมหาราชวังออกมาเป็นพระองค์เจ้าวีระไม่ต้องมายืนตากแดด พูดให้ประชาชนฟังถึงเวลาเที่ยงก็เข้าห้องเย็น เสวยเสร็จก็บรรทม ตื่นอีกทีบ่ายสามโมงพอตกเย็นก็เสวยน้ำจัณฑ์ให้สบายอกสบายใจ เป็นการกล่าวเปรียบเทียบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาททรงมีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่ต้องปฏิบัติพระราชภารกิจใด ๆ ต่างกับจำเลยที่เป็นลูกชาวนา ต้องทำงานหนัก ซึ่งข้อความที่จำเลยกล่าวนั้นไม่เป็นความจริงจึงเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แม้การกระทำดังกล่าวของจำเลยจะไม่เกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อถือคำกล่าวนั้นก็ตาม ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำเลยจะมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ จะถือตามความเข้าใจของจำเลยซึ่งเป็นผู้กล่าวเองมิได้ ต้องพิจารณาจากข้อความที่จำเลยกล่าวทั้งหมด การที่จำเลยกล่าวข้อความไปอย่างไร แล้วกลับมาแก้ว่าไม่มีเจตนาตามที่กล่าว ย่อมยากที่จะรับฟัง การที่จำเลยเป็นผู้มีคุณความดีมาก่อน หลังจากเกิดเหตุแล้วยังได้ไปกล่าวคำกราบบังคมทูลของพระราชทานอภัยโทษต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้มีหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการรู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ มีเหตุสมควรปรานีลดโทษให้จำเลย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 6
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 45
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 46
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 มาตรา 54
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 243

ผู้พิพากษา

วีระชัย สูตรสุวรรณ
สุพจน์ นาถะพินธุ
วิศิษฎ์ ลิมานนท์ศักดิ์ สนองชาติ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android