คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1195/2531

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่เป็นการเฉพาะตัว ไม่ได้ฟ้องเกี่ยวกับสินสมรสแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมีสามีก็ไม่จำต้องให้สามีให้ความยินยอม
โจทก์ได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในมูลละเมิดภายในกำหนดอายุความ การที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเกี่ยวกับค่าเสียหายเกิน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้ที่จะใช้ค่าเสียหายแล้ว โดยอ้างว่ายังมิได้เรียกค่ายาและค่ารักษาพยาบาลไว้ หาทำให้คำฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายนั้นขาดอายุความไม่
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถโดยสารประจำทางคันเกิดเหตุและนำมาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 3 และปรากฏว่าพนักงานเก็บเงินค่าโดยสารเป็นพนักงานของจำเลยที่ 3 จึงถือได้ว่าการนำรถโดยสารของจำเลยที่ 2 เข้ามาแล่นในเส้นทางสัมปทานที่จำเลยที่ 3 ได้รับจากรัฐบาลเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ก็เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จะปฏิเสธความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหาได้ไม่.(ที่มา-ส่งเสริม)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1477
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

ผู้พิพากษา

ประชา บุญวนิช
ดุสิต วราโห
คำนึง อุไรรัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android