คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951/2531

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกเบิกความเท็จ และแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ ในคดีที่จำเลยที่ 2 ร้องขอให้ศาลสั่งว่า อ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และขอให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้พิทักษ์กับคดีที่จำเลยที่ 2 ร้องขอให้ศาลสั่งว่า อ. เป็นคนไร้ความสามารถ และตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้อนุบาล โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยเบิกความและแสดงหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตร อ.ซึ่งเป็นความเท็จ ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีทั้งสอง การเบิกความก็ดี การนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานก็ดีเป็นการกระทำต่อศาล เนื้อความก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ อ. มิได้เกี่ยวกับโจทก์ คดีเป็นเพียงเรื่องขอให้สั่งให้ อ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและไร้ความสามารถเท่านั้น แม้โจทก์จะเป็นทายาทอันดับ 3 ความเท็จที่จำเลยเบิกความหรือนำสืบยังไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์โดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายอันจะมีอำนาจฟ้องคดีในความผิดดังกล่าว
ส่วนความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมนั้น โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ปลอมสูติบัตรของจำเลยที่ 2 และจำเลยทั้งหกร่วมกันปลอมสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยทั้งหก แล้วใช้อ้างเป็นพยานต่อศาลในคดีที่ร้องขอให้ อ. เป็นคนไร้ความสามารถ สูติบัตร และสำเนาทะเบียน ต่างเป็นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำขึ้น หากจะมีการปลอมแปลงก็มิใช่เป็นการกระทำตอ่โจทก์ ข้อความในสูติบัตรและสำเนาทะเบียนบ้านไม่เกี่ยวกับโจทก์ การอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานก็กระทำต่อศาล มิได้กระทำต่อโจทก์โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2

ผู้พิพากษา

นิเวศน์ คำผอง
วิฑูรย์ ตั้งตรงจิตต์
ประวิทย์ ขัมภรัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android