คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 147/2531

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 

การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แต่เพียงบันทึกคำแถลงของคู่ความแล้วสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่าย เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณารวบรัด ฝ่าฝืนมาตรา 31 และ 39 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่นั้น เป็นการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและคำสั่งงดสืบพยานของศาลอันเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามป.วิ.พ. มาตรา 226 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ตามระเบียบข้อบังคับหมวดการให้ออกและเลิกจ้าง ข้อ 20 ของจำเลยกำหนดว่า 'หากพนักงานคนใดปฏิบัติผิดกฎข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่ง บริษัท ฯ สงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาโทษให้ออกจากงานและยึดเงินประกัน' และตามระเบียบดังกล่าวได้กำหนดเรื่องการขอรับเงินประกันคืนไว้ว่า 'พนักงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าปฏิบัติงานกับบริษัท ฯ อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไปถึงจะมีสิทธิรับเงินประกันคืนเมื่อลาออกจากงานโดยต้องยื่นใบลาล่วงหน้า 15 วัน' การที่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างลาออกโดยโจทก์ได้ทำงานกับบริษัทจำเลยเกินกว่า 6เดือน และยื่นใบลาล่วงหน้า 15 วันแล้ว จึงต้องด้วยระเบียบการขอรับเงินประกันคืน แม้จำเลยจะฟังว่าโจทก์ขาดงาน 3วันติดต่อกัน แต่จำเลยก็มิได้ให้โจทก์ออกจากงาน กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อ 20 แห่งระเบียบข้อบังคับหมวดการให้ออกและการเลิกจ้างดังกล่าว เมื่อฟังว่าโจทก์ไม่ได้ทำให้จำเลยเสียหายประการใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดเงินประกันของโจทก์ไว้.(ที่มา-ส่งเสริม)
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226
  • พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 39

ผู้พิพากษา

สีนวล คงลาภ
จุนท์ จันทรวงศ์
จำนง นิยมวิภาต

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android