คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3512/2542

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งผู้ให้เช่าซื้อจะต้อง โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เช่าซื้อให้แก่ผู้เช่าซื้อเมื่อ ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน แต่เมื่อห้างผู้เช่าซื้อ ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อหลายงวด จนโจทก์มอบให้ทนายความ มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปยังห้างผู้เช่าซื้อแล้ว กลับมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยขึ้น โดยเอาหนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาเช่าซื้อพร้อมทั้งดอกเบี้ยและ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมเข้าเป็นเงินจำนวนเดียวให้จำเลยผ่อนชำระ ต่อไป แต่ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวหาได้มีข้อความใด กล่าวถึงรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ไม่ ทั้งปรากฏว่าหลังจากนั้น ห้างผู้เช่าซื้อและจำเลยยังคงครอบครองใช้สอยรถยนต์ที่เช่าซื้อ ต่อมาอีกด้วย เห็นได้ว่า หากจำเลยผ่อนชำระหนี้ตามสัญญา ประนีประนอมยอมความดังกล่าวจนครบถ้วนแล้ว โจทก์ย่อมโอน กรรมสิทธิ์และโอนทางทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ห้างผู้เช่าซื้ออย่างแน่นอน เพราะมิฉะนั้นจำเลยย่อมไม่ทำสัญญา ประนีประนอมยอมความดังกล่าวกับโจทก์ การที่โจทก์ยอมให้ ห้างผู้เช่าซื้อและจำเลยครอบครองใช้สอยรถยนต์ที่เช่าซื้อ หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วก็ดี และยอมจะโอน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อให้ห้างผู้เช่าซื้อเมื่อจำเลย ผ่อนชำระหนี้ครบถ้วนแล้วก็ดี ย่อมแสดงว่าคู่สัญญาเช่าซื้อเดิม ยังคงถือปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมิได้มีเจตนาให้สัญญา เช่าซื้อเลิกไปเสียทั้งหมดคงเปลี่ยนแปลงเฉพาะแต่จำนวนหนี้ ค่าเช่าซื้อและการผ่อนชำระเท่านั้น สัญญาประนีประนอม ยอมความดังกล่าวจึงมิได้ทำให้สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อเดิม ระงับไปและไม่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ประกอบมาตรา 852 คงมีลักษณะเป็นเพียงสัญญารับสภาพหนี้และผ่อนชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ และหนี้อื่น ๆ ที่ค้างชำระเท่านั้น เมื่อสิทธิและหน้าที่ ตามสัญญาเช่าซื้อเดิมยังคงมีผลบังคับอยู่ ห้างผู้เช่าซื้อ ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียได้ด้วยการส่งมอบรถยนต์ ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 และโจทก์จะเรียกร้อง เอาค่าเช่าซื้อหลังจากนั้นหาได้ไม่ แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องตั้งประเด็นตามสัญญาเช่าซื้อ สิทธิของโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อยังคงมีอยู่เพียงใดจึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยได้ สมควรให้โอกาสแก่โจทก์ไปฟ้องร้องเป็นคดีใหม่
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172

ผู้พิพากษา

วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
ผล อนุวัตรนิติการ
สายันต์ สุรสมภพ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android