คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5764/2541

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ศาลแรงงานสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ แม้มีผลเป็นการสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228(3) จำเลยย่อมอุทธรณ์คำสั่งได้ทันทีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 228 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 แต่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานดังกล่าวในระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานเพื่อให้ศาลฎีกาสั่งให้ศาลแรงงานมีคำสั่งรับคำร้องขอแก้ไขคำให้การดังกล่าวของจำเลยไว้พิจารณานั้น เมื่อปรากฏว่าหลังจากศาลแรงงานสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่สั่งรับอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยไว้ และมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของจำเลย และจำเลยได้อุทธรณ์ประเด็นข้อนี้รวมมากับอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงาน ซึ่งศาลแรงงานได้สั่งรับอุทธรณ์ข้อนี้ไว้แล้วศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ให้ การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การโดยอ้างว่าเพิ่งตรวจพบเอกสารและได้รับแจ้งจากการไฟฟ้านครหลวงหลังจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามแล้วจึงขอเพิ่มเติมคำให้การว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและขณะที่โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ที่ 1 และที่ 3มาทำงานสายเป็นประจำอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ฟ้องโจทก์ทั้งสามเคลือบคลุมและโจทก์ทั้งสามได้ร้องต่อเจ้าหน้าที่แรงงานเขตบางเขน จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานรับฟังว่า อ. พยานจำเลยเป็นผู้แจ้งการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามว่าเหตุที่จำเลยเลิกจ้างเนื่องจากจำเลยไม่มีงานให้โจทก์ทั้งสามทำ ดังนั้น ขณะจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามจำเลยมิได้ติดใจหรือถือว่าโจทก์ทั้งสามกระทำความผิดจำเลยย่อมไม่อาจยกเหตุซึ่งอ้างว่าเพิ่งทราบการกระทำความผิดของโจทก์ทั้งสามหลังจากเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามแล้วขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดในการจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ แม้ศาลฎีกาจะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงได้จึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การตามที่จำเลยอ้าง ศาลแรงงานไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและงดสืบพยานจำเลยเนื่องจากจำเลยขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้ว ทั้งจำเลยเคยแถลงต่อศาลว่าจะสืบพยานจำเลยให้เสร็จภายในกำหนด หากไม่อาจสืบพยานได้ทันภายในกำหนดให้ถือว่าไม่ติดใจสืบพยานจำเลยอีกต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยเช่นนี้เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลแรงงานในการพิจารณาว่าสมควรจะอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54

ผู้พิพากษา

วิรัตน์ ลัทธิวงศกร
พรชัย สมรรถเวช
กมล เพียรพิทักษ์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android