คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3505/2541

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
แม้ทางด้านทิศเหนือของที่ดินโจทก์จะเคยมีทางสาธารณะ อยู่แต่ได้ขุดเป็นลำเหมืองสำหรับปล่อยน้ำทิ้งมานาน ประมาณ 20 ปีแล้ว ปัจจุบันมีสภาพตื้นเขิน ไม่มีน้ำตลอดทั้งปี ไม่สามารถใช้เรือสัญจรไปมาได้ ทางดังกล่าวจึงไม่เป็น ทางสาธารณะตามของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 ส่วนทางที่โจทก์จะสามารถใช้ออกสู่ทางสาธารณะใช้อีกทางหนึ่ง คือ คันคลองส่งน้ำด้านทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์แต่ทางดังกล่าวต้องผ่านที่ดินของผู้อื่นจำนวนหลายแปลงด้วยกันและมีระยะทางยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ทั้งโจทก์ไม่เคยใช้เป็น เส้นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะเป็นปกติมาก่อนเลยเมื่อเปรียบเทียบกับทางพิพาทซึ่งเป็นทางตรงมีระยะทางเพียง 18 เมตร ทางพิพาทย่อมสะดวกและมีความเหมาะสมมากกว่า ทั้งทำให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยที่สุดเพราะทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยเพียงแปลงเดียว จำเลยจะเกี่ยงให้โจทก์ไปใช้เส้นทางอื่นในที่ดินคนอื่นที่โจทก์ไม่ได้ใช้เป็นปกติมาก่อนเป็นทางเข้าออกไม่ได้ และเมื่อคำนึงถึงอนาคต โจทก์อาจใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเข้าออกทางพิพาท เห็นสมควรกำหนดให้ทางพิพาทมีขนาดความกว้าง 2.50 เมตร ซึ่งไม่เกินคำขอของโจทก์ได้ โจทก์อ้างความจำเป็นที่จะต้องนำน้ำจากคลองชลประทาน เข้าไปใช้ในที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ติดต่อกับที่ดินของจำเลย โดยวางท่อระบายน้ำผ่านที่ดินของจำเลย พร้อมทั้งเสนอ ให้ค่าทดแทนเป็นรายปี แต่เมื่อปรากฏว่าทางด้านทิศตะวันตก ของที่ดินโจทก์มีคลองส่งน้ำ และทางด้านทิศเหนือก็มี ลำเหมืองสาธารณะอยู่และคลองส่งน้ำนั้นมีน้ำบริบูรณ์ ส่วนลำเหมืองสาธารณะนั้น แม้จะมีสภาพตื้นเขินอยู่บ้าง แต่ยังก็มีน้ำมากพอสมควร ประกอบกับจะมีน้ำที่ปล่อยจาก บ่อเลี้ยงกุ้งของผู้อื่นหลายรายลงมาในลำเหมืองอยู่เสมอ ๆ โจทก์จึงสามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำทั้งสองแห่งนี้ได้ อย่างเพียงพอแล้ว จึงไม่ควรที่จะให้จำเลยจำต้องยอมรับ ภารจำยอมในอันที่จะให้โจทก์วางท่อระบายน้ำและตั้ง เครื่องสูบน้ำบนที่ดินของจำเลยอีก โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็น และให้จำเลยทั้งสอง ชดใช้ค่าเสียหายที่มาตักดินบริเวณที่ จอดรถยนต์ที่โจทก์ ทำไว้เป็นเงิน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่ง ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยเปิดทางจำเป็น ส่วนคำขอในเรื่องค่าเสียหายให้ยก ดังนี้ เมื่อค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาในชั้นอุทธรณ์ เป็นค่าเสียหายในมูลละเมิด และมิใช่เป็นคำขอต่อเนื่อง ในเรื่องเดียวกันกับเรื่องทางจำเป็น จึงเป็นคนละมูลกรณีกัน สิทธิในการอุทธรณ์ของโจทก์ย่อมต้องแยกพิจารณา เมื่อคดี ในส่วนค่าเสียหายมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้าม มิให้โจทก์อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224

ผู้พิพากษา

ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ
พิมล สมานิตย์
กนก พรรณรักษา

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android