คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 427/2541

 แหล่งที่มา: สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ป. ถูกฟ้องในข้อหาความผิดฐานลักปลาดุก เลี้ยงของผู้เสียหายในคราวเดียวกันกับคดีนี้ และศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ป. ไปแล้ว ตามคดีอาญาก่อนของศาลชั้นต้น ดังนั้น จึงต้องถือว่า ป. มีฐานะเป็นจำเลยเช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่ได้ถูกฟ้องแย้งจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวร่วมกับ ป. ก็ตาม แต่เพราะเป็นมูลคดีเดียวกันคำเบิกความของ ป. ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีน้ำหนักน้อย เพราะเป็นคำซัดทอดในระหว่างจำเลยด้วยกันส่วนนางข. นอกจากจะเป็นภริยาของ ป. แล้วตามพฤติการณ์แห่งคดีก็เป็นผู้ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ขณะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ตลอดจนมีส่วนร่วมในการนำปลาดุก เลี้ยงของผู้เสียหายไปขายอันอาจถือได้ว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ด้วยดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ ข. จะเบิกความซัดทอดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อให้ตนเองพ้นผิด คำเบิกความของ ข.จึงมีข้อน่าสงสัยนอกจากนี้คำเบิกความของ ป. และ ข.ก็ยังแตกต่างและขัดแย้งกันในข้อสาระสำคัญหลายประการย่อมทำให้เกิดข้อพิรุธสงสัย ชั้นจับกุมจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธตลอดจนได้ความว่าคดีอาญาก่อนของศาลชั้นต้นมี ป.ถูกฟ้องเพียงคนเดียว ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ถูกฟ้องด้วยทั้ง ๆ ที่เป็นมูลคดีเดียวกัน พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่แน่ชัดพอ ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้กระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองและเนื่องจากคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในความผิดลักทรัพย์ฐานเดียวกัน เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรจึงเป็นเหตุให้ส่วนลักษณะคดีแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้มีผลตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213,225 จำเลยที่ 2 มีบ้านอยู่ใกล้กับบ่อเลี้ยงปลาของผู้เสียหายและทราบดีว่า ป. เป็นคนเฝ้าบ่อปลาให้กับผู้เสียหาย ดังนั้นการที่ป. นำปลาดุก เลี้ยงจำนวนมากถึง 42 กิโลกรัมมาขายให้แก่จำเลยที่ 2 ในเวลาวิกาลประมาณ 4 นาฬิกา และขายในราคา ต่ำเพียงกิโลกรัมละ 8 บาท ในขณะที่จำเลยที่ 2 สามารถนำไป ขายต่อได้ถึงกิโลกรัมละ 22 บาท เช่นนี้ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 ทราบว่า ป.ลักปลาดุก เลี้ยงของผู้เสียหายมา การที่จำเลยที่ 2 รับซื้อไว้จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2ในข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานรับของโจรก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 2ก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227

ผู้พิพากษา

อมร วีรวงศ์
สุรินทร์ นาควิเชียร
วิชัย ชื่นชมพูนุท

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android