คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6663/2540

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ขณะจำเลยกระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2539 การเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 ซึ่งจำเลยผู้กระทำความผิดต้องรับโทษตามมาตรา 106 ตรี ต่อมาก่อนการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 97(พ.ศ. 2539) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2539 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เดิมทุกฉบับ และให้วัตถุออกฤทธิ์ที่ระบุชื่อในบัญชีท้ายประกาศดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวไม่ได้ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์อีกต่อไป และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) เรื่องระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 ระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20 ว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522เท่านั้น จึงมีผลให้การเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษตามมาตรา 91 และไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518อีกต่อไป อันเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก สำหรับข้อหาความผิดฐานผู้ได้รับใบอนุญาตปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3 ตรี) และ 127 ทวิแม้การเสพเมทแอมเฟตามีน จะไม่เป็นความผิดตามมาตรา 102(3 ตรี) เพราะภายหลังการกระทำความผิดดังกล่าวเมทแอมเฟตามีน ไม่ถือเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แต่ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษก็ตาม แต่ความผิดฐานผู้ได้รับใบอนุญาตปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษยังคงถือว่าเป็นความผิดอยู่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 102(3 ทวิ) และมาตรา 127 ทวิและมีโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย มิได้ถูกยกเลิกไป จึงมิใช่กรณีที่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติภายหลังยกเลิกความผิดดังกล่าวหรือบัญญัติให้เป็นคุณตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2และ 3 แต่อย่างใด ดังนี้ เมื่อไม่มีกรณีที่จะต้องปรับบทด้วยกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 102(3 ตรี) และ 127 ทวิ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำความผิด ส่วนข้อหาความผิดฐานจำเลยเป็นผู้ขับขี่เสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง นั้น เมื่อภายหลังการกระทำความผิดดังกล่าวเมทแอมเฟตามีนไม่ถือเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อไปแต่ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) ดังกล่าว และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ไม่มีบทบัญญัติลงโทษผู้ขับขี่ซึ่งเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอันเป็นกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ซึ่งต้องให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว และศาลไม่อาจสั่งจำเลยให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลย ตามบทกฎหมายดังกล่าวตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ ปัญหานี้แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 185,215 และ 225การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทคือเฉพาะบทความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 62 ตรี และ 106 ตรี และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3 ตรี) และ 127 ทวิเท่านั้น ซึ่งต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 ตรี และ 106 ตรี อันเป็นบทหนักที่สุด
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
  • พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ตรี
  • พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 106 ตรี
  • พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57
  • พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91
  • พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102
  • พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 127 ทวิ
  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ
  • พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ
  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ.2539) มาตรา 157 ทวิ
  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ มาตรา 157 ทวิ

ผู้พิพากษา

สมบัติ เดียวอิศเรศ
จำลอง สุขศิริ
ไสว จันทะศรี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android