คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5828/2540

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ขณะที่บริษัท ค. ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้รับขนส่งสินค้าพิพาททางทะเล พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับและไม่มีบทบัญญัติให้มีผลย้อนหลังนำไปปรับใช้กับสัญญารับขนของทางทะเลที่ทำกันขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับ ประกอบกับสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งทำกันขึ้นนั้นคู่สัญญามีเจตนาให้ผูกพันกันตามสิทธิและหน้าที่ความรับผิดชอบตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญากัน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะรับขนในหมวดรับขนของอันเป็นกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับใช้นั้น จึงชอบแล้ว จำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจรับขนส่งทางทะเล และเป็นบริษัทสาขาหรือเครือเดียวกันกับจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้รับขนสินค้าพิพาทที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ได้ดำเนินการนำเรือ ป.เข้าเทียบท่าเรือกรุงเทพโดยได้รับบำเหน็จค่าจ้าง ทั้งยังเป็นผู้ดำเนินการติดต่อทำพิธีการต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่ที่ เกี่ยวข้องเช่น กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กองตรวจคนเข้าเมืองการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อนำเรือดังกล่าวเข้าเทียบท่าเรือเมื่อเรือดังกล่าวเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพจำเลยที่ 2ก็เป็นผู้แจ้งการมาถึงของเรือดังกล่าวให้ผู้ซื้อสินค้าทราบทั้งยังเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าเพื่อให้ผู้ซื้อสินค้าพิพาทนำไปรับสินค้าจากเรือขนส่ง นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้ดำเนินการขนถ่ายสินค้าพิพาทจากเรือ ป. ลงเรือลำเลียงหรือเรือฉลอม และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากการนำเรือขนถ่ายสินค้าด้วย การดำเนินการต่าง ๆของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการดำเนินการขนส่งเพื่อให้สินค้าถึงมือผู้ซื้อ ย่อมถือได้ว่าเป็นการขนส่งหลายทอดตามวิธีการขนส่งทางทะเล โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608 และ 618 โดยจำเลยที่ 2 หาจำต้องเป็นผู้ออกใบตราส่งหรือเป็นเจ้าของเรือ ป.ไม่ ขณะเรือ ป. เดินทางอยู่ในทะเลได้เผชิญกับพายุอย่างรุนแรงเรือโยกคลอน น้ำซัดเข้าเรือเป็นเหตุให้สินค้าพิพาทได้รับความเสียหาย โดยไม่ได้ความว่าพายุรุนแรงขนาดไหน ความเสียหายดังกล่าวเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้เพราะ เหตุใด และผู้ควบคุมเรือซึ่งต้องประสบเหตุเช่นนั้นได้จัดการ ระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะ และภาวะเช่นนั้นหรือไม่อย่างไร จึงรับฟังไม่ได้ว่าความเสียหาย ของสินค้าพิพาทเกิดจากเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 608
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618

ผู้พิพากษา

สมบัติ เดียวอิศเรศ
จเร อำนวยวัฒนา
อำนวย สุขพรหม

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android