คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2153/2540

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 14 และมาตรา 77 ซึ่งหากผู้ต้องเสียภาษีไม่ยื่นเสียภาษีหรือเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินเมื่อ ตรวจสอบพบแล้วจะทำการประเมินภาษีแล้วแจ้งจำนวนภาษีที่จะต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 18เมื่อรับแจ้งแล้วผู้ต้องเสียภาษียังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และต่อศาลต่อไปตามลำดับได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ก่อนทำการประเมินและแจ้งไปยังผู้ต้องเสียภาษี ยังไม่อาจถือได้ว่าผู้ต้องเสียภาษีเป็นหนี้ภาษีที่แน่นอนเมื่อยังถือไม่ได้ว่าเป็นหนี้ภาษีที่แน่นอน ผู้ต้องเสียภาษีจึงยังไม่อาจที่จะตกลงสละสิทธิหรือประนีประนอมยอมความในหนี้ภาษีนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ได้ ฉะนั้นข้อตกลงตามบันทึกข้อตกลงที่โจทก์ได้ทำไว้ก่อนมีการประเมินภาษีดังกล่าวจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับในข้อนี้ ดังจะเห็นได้ว่าต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้แจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวยอมรับการอุทธรณ์รวมทั้งวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ ซึ่งหากจำเลยที่ 1เห็นว่าบันทึกข้อตกลงของโจทก์เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลทำให้หนี้ภาษีอากรระงับและโจทก์มีความผูกพันต้องชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามข้อต่อสู้และตามที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใดที่จำเลยที่ 1 จะต้องแจ้งการประเมินภาษีไปยังโจทก์ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องรับอุทธรณ์การประเมินและวินิจฉัยอุทธรณ์ให้อีก กรณียังฟังไม่ได้ว่าบันทึกข้อตกลง ของโจทก์เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลทำให้การเรียกร้องหนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องจากโจทก์ระงับ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินพร้อมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1(20) และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534มาตรา 18 วรรคหนึ่งและวรรคสี่นั้น แม้สถานที่เก็บสินค้าจะถือว่าเป็นสถานที่ประกอบกิจการซึ่งในกรณีปกติจะต้องยื่นคำขอเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือเป็นรายสถานประกอบการก็ดี แต่ก็มีข้อยกเว้นว่าหากผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติจากอธิบดีของจำเลยที่ 1 ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันแล้ว ในการขอเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการดังกล่าวยื่นคำขอเครดิตรวมกัน คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้รับอนุมัติจากอธิบดีของจำเลยที่ 1 ให้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกันแล้ว และโจทก์ก็ได้ยื่นคำขอเครดิตในการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือที่สำนักงานใหญ่ที่สาขาและที่เก็บสินค้ารวมกันแล้ว นอกจากนี้ยังปรากฏว่าอธิบดีของจำเลยที่ 1 เห็นชอบในกรณีนี้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีสำหรับสินค้าคงเหลือของโจทก์ที่เก็บไว้ในคลังสินค้าเลขที่ 9/2 หมู่ที่ 6 ถนนบางนา-ตราด ตำบลบางโฉลงอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และเลขที่ 19-23 ซอยพิชิตถนนมหาไชยแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ด้วย ในบัญชีระบุพยานโจทก์อ้างระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการปฏิบัติงานกรรมวิธีแสดงแบบรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ศ. 2535ลงวันที่ 6 มกราคม 2535 และระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการปฏิบัติงานกรรมวิธีแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2536 ลงวันที่ 22 กันยายน 2536 เป็นพยานแต่ศาลภาษีอากรกลางมิได้นำเอกสารดังกล่าวมาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์เพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการยื่นบัญชีระบุพยานของโจทก์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 14
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 77
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
  • พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2534 มาตรา 18

ผู้พิพากษา

สันติ ทักราล
สุนพ กีรติยุติ
ชลอ ทองแย้ม

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android