คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2546

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีประเภทที่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะ มีกระบวนวิธีพิจารณาที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษ โดยเน้นการพิจารณาให้เสร็จไปโดยรวดเร็วแตกต่างจากคดีสามัญ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ว่า "ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศดำเนินการนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่เลื่อนคดีจนกว่าจะเสร็จการพิจารณา เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ และเมื่อเสร็จการพิจารณาคดี ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศรีบทำคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยเร็ว" คดีนี้ศาลเคยอนุญาตให้เลื่อนคดีเพราะ ช. ทนายจำเลยที่ 3 ถอนตัวและ ก. ทนายจำเลยที่ 3 ที่แต่งตั้งใหม่ก็ติดว่าความที่ศาลอื่น ไม่มาในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกและนัดที่ 2 ก็ขอเลื่อนคดีเพราะขอเวลาเจรจากับโจทก์ แต่จำเลยที่ 3 ก็มิได้ไปติดต่อกับโจทก์เพื่อเจรจาตกลงกันตามที่ได้แถลงไว้ต่อศาล จนถึงวันนัดพร้อมเพื่อทำยอมหรือนัดสืบพยานโจทก์ ก. ยื่นคำร้องขอถอนตัวออกจากการเป็นทนายความจำเลยที่ 3 โดยอ้างเหตุว่ามีความคิดเห็นไม่ตรงกับจำเลยที่ 3 ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ก็ยื่นใบแต่งทนายความต่อศาล แต่งตั้งให้ ส. เป็นทนายความคนใหม่ ทนายจำเลยที่ 3 คนใหม่ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างเหตุว่า ตนติดว่าความที่ศาลอื่นกับยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 3 ด้วย ดังนั้น การขอเลื่อนคดีในนัดที่ 3 นี้ จึงไม่ใช่การขอเลื่อนในกรณีปกติทั่วไป หากจำเลยที่ 3 มีความสุจริตและมีความจำเป็นต้องแต่งตั้งทนายความคนใหม่ก็ควรจะต้องพิจารณาว่าทนายความที่จะแต่งตั้งใหม่นั้นพร้อมที่จะว่าความให้ตนในวันดังกล่าวเพื่อมิให้คดีต้องล่าช้าออกไป การกระทำของจำเลยที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการขัดขวางการพิจารณาคดีไม่ให้เสร็จไปโดยรวดเร็วและมีพฤติการณ์เป็นการประวิงคดี ชอบที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี
กระบวนพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานในการสืบพยานบุคคลมีกำหนดไว้เป็นพิเศษอยู่ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 29 และข้อ 30 สำหรับคดีนี้ โจทก์ยื่นบัญชีพยานระบุชื่อ ว. เป็นพยานบุคคลของโจทก์ โจทก์ยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. ซึ่งมีรายการครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดข้อ 30 ต่อศาลพร้อมกับคำแถลงขออนุญาตใช้บันทึกถ้อยคำดังกล่าวแทนการซักถามพยานบุคคลดังกล่าว โดยโจทก์ได้จัดส่งสำเนาบันทึกถ้อยคำดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก ทนายจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีและได้กล่าวไว้ในคำร้องด้วยว่า หากโจทก์จะใช้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงแทนการสืบพยานบุคคลแล้ว จำเลยที่ 3 ไม่ค้าน และขอซักค้านผู้ให้ถ้อยคำในนัดหน้าพร้อมกับสืบพยานจำเลยที่ 3 ซึ่งต่อมาศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์พร้อมพยานจำเลยที่ 3 ในนัดหน้า ดังนั้น ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดสุดท้าย ทนายจำเลยที่ 3 ไม่มาศาลแต่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ การที่ทนายจำเลยที่ 3 ไม่มาศาลย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ติดใจที่จะซักค้าน ว. พยานโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางย่อมรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ ว. พยานโจทก์ที่มาศาลในวันดังกล่าวเข้าเบิกความต่อหน้าศาลอีก ตามข้อกำหนดข้อ 29 วรรคท้าย ทั้งในข้อกำหนดเกี่ยวกับการเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงแทนการสืบพยานบุคคลก็มิได้ระบุให้ผู้ให้ถ้อยคำต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนให้ถ้อยคำตามบันทึกนั้นแต่อย่างใด การที่บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. มิได้มีข้อความของการสาบานหรือปฏิญาณตนของ ว. ทั้งไม่มีลายมือชื่อของบุคคลผู้รับการสาบานหรือปฏิญาณลงไว้ ก็ไม่ทำให้บันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. เสียไปแต่อย่างใด เพียงแต่เมื่อผู้ให้ถ้อยคำนั้นมาศาลเพื่อตอบคำถามค้านและคำถามติงของคู่ความ จึงจะต้องสาบานหรือปฏิญาณก่อนเบิกความ และโจทก์ไม่จำต้องระบุอ้างบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. ไว้ในบัญชีพยานโจทก์ในฐานะเป็นพยานเอกสาร เพราะถือว่าการส่งบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงเป็นกระบวนพิจารณาแทนการสืบพยานบุคคล ดังนั้น เมื่อโจทก์ระบุชื่อ ว. เป็นพยานบุคคลของโจทก์ไว้ในบัญชีพยานของโจทก์แล้ว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับฟังบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ ว. พยานบุคคลของโจทก์แทนการที่โจทก์ต้องซักถามตัวพยานจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 27
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30
  • ข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 มาตรา 29
  • ข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 มาตรา 30

ผู้พิพากษา

สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
เสริมศักดิ์ ผลัดธุระ
ไชยวัฒน์ สัตยาประเสริฐ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android