คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7179/2545

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การพิจารณาว่ากรณีใดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงมูลเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นเหตุทางฝ่ายนายจ้างหรือเหตุทางฝ่ายลูกจ้างโดยพิจารณาว่านายจ้างมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่
จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์อ้างเหตุว่า "เพื่อความเหมาะสมในการบริหารงาน" ซึ่งยังไม่ได้ความชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่มีความเหมาะสมในการบริหารงานใด หรือจำเลยประสงค์จะให้เกิดความเหมาะสมในการบริหารงานเช่นใด จึงต้องพิจารณาจากคำให้การและข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาแสดงว่าเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ เมื่อโจทก์ทำงานในระดับบริหารต้องประสานงานกับบุคลากรในส่วนงานอื่น ๆ ในระดับเดียวกัน แต่โจทก์ปฏิบัติงานเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ แม้จำเลยจะได้ย้ายโจทก์ไปส่วนงานอื่น โจทก์ก็ยังทำงานในลักษณะเดิมโดยมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานอีก ชี้ให้เห็นว่าโจทก์น่าจะเป็นผู้ขาดมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ไม่สามารถประสานงานกับบุคลากรในส่วนอื่นได้ ย่อมทำให้เกิดความขัดข้องในการบริหารจัดการของจำเลย ทำให้การผลิตและการบริการของจำเลยขาดประสิทธิภาพ อาจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ จำเลยจึงมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

ผู้พิพากษา

เกษมสันต์ วิลาวรรณ
วีรพจน์ เพียรพิทักษ์
พูนศักดิ์ จงกลนี

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android