คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2533

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยในข้อหาว่าร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ซึ่งเป็นคดีเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องผัดฟ้องจำเลยต่อศาลแขวง และการที่โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดจึงชอบแล้ว แม้ต่อมาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 อันเป็นบทเบากว่าและอยู่ในอำนาจของศาลแขวงก็ตาม เพราะเป็นกรณีที่ศาลลงโทษโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ซึ่งศาลมีอำนาจกระทำได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นเหตุให้ได้รับอัตรายแก่กายตามมาตรา 295 ก็เป็นการกระทำผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายนั่นเอง ซึ่งเป็นบทเบากว่า ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 295 ได้ หาเกินคำขอไม่
ข้อเท็จจริงที่ว่าการสอบสวนล่าช้าไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้างจึงไม่เกิดขึ้น ฎีกาจำเลยในข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225
ฎีกาจำเลยที่ขอให้ลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษ เป็นฎีกาเกี่ยวกับเรื่องดุลพินิจในการลงโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7

ผู้พิพากษา

ปรีชา ธนานันท์
พิชิต พรหมพิทักษ์กุล
บุญศรี กอบบุญ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android