คำพิพากษาย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นลูกจ้างของโจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบแผน วิธิปฏิบัติงานของโจทก์ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานอยู่ด้วย ดังนี้ หาใช่เป็นเรื่องจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดแก่โจทก์เพียงประการเดียวไม่ การปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามมาตรา 164 ซึ่งกำหนดอายุความไว้ 10 ปี
จำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 นอกจากมีหน้าที่ตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในการควบคุมจำเลยที่ 2 ให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในการทำไม้ของกลางแล้ว ยังต้องมีหน้าที่ไปตรวจดูแลไม้ของกลางที่ว่าจ้าง ป. เฝ้ารักษาไม่ให้เสียหายจนกว่าจะขายได้ด้วย ดังนั้น เมื่อไม้ของกลางดังกล่าวสูญหาย แม้โจทก์จะปรับ ป. ไปแล้วตามสัญญา ก็หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 พ้นความรับผิดไม่
ป. ทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์ว่า จะชำระเงินให้โจทก์จำนวน 50,000 บาท ซึ่งเป็นการชำระหนี้บางส่วนโดยโจทก์ไม่ได้ฟ้อง ป. ให้รับผิด เมื่อ ป. ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยโดยไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีเสียก่อน
โจทก์ฟ้องตั้งข้อหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปฏิบัติผิดข้อบังคับระเบียบ คำสั่ง แบบแผน วิธีปฏิบัติงาน และไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของโจทก เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ดังนี้เป็นเรื่องความรับผิดของจำเลยทั้งสองในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากจำเลยคนใดคนหนึ่งทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก และจำเลยทั้งสองยังคงต้องผูกพันอยู่จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 การที่โจทก์สั่งให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายคนละกึ่งหนึ่งเป็นเรื่องโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เท่านั้น หากจำเลยคนหนึ่งคนใดยินยอมชำระให้กึ่งหนึ่ง โจทก์ก็อาจพิจารณาไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยผู้ชำระหนี้นั้นต่อไป แต่ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ชำระ ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะบังคับตาม มาตรา 291 กรณีจึงไม่ใช่เรื่องขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
การที่โจทก์ลงโทษตัดเงินเดือนจำเลยที่ 2 ซึ่งกระทำผิดวินัยตามข้อบังคับของโจทก์ ฉบับที่ 7 ว่าด้วยวินัยการสอบสวน และการลงโทษสำหรับพนักงานและคนงานอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 หาเป็นเหตุลบล้างสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่ตามกฎหมายไม่