คำพิพากษาย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคาร อ. ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้จัดการหรือจำเลยที่ 2 รองผู้จัดการเป็นผู้กระทำการแทน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 มีคำสั่งไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ ฝ่าฝืนข้อบังคับธนาคาร อ.แต่ปรากฏว่าข้อบังคับดังกล่าวกำหนดให้ผู้จัดการมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างได้ ดังนี้ ถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ใช้ดุลพินิจผิดไปจากข้อบังคับ โจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวกับจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน จะอ้างว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์หาได้ไม่ เว้นแต่โจทก์จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อขึ้นอีกต่างหากนอกเหนือจากการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน
โจทก์แต่งชุดดำมาทำงานในวันที่มีข่าวว่าจะมีพนักงานธนาคาร อ. ร่วมกันแต่งชุดดำประท้วงจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการประชุมแต่งตั้งพนักงานในสำนักงานผู้จัดการซึ่งนอกจากโจทก์แล้วยังมีพนักงานธนาคารอีก 3 คน แต่งชุดดำมาทำงานด้วย แม้จะเป็นการบังเอิญมาตรงกัน แต่การกระทำของโจทก์ก็เป็นมูลเหตุให้จำเลยที่ 2 เข้าใจไปได้ว่าโจทก์แต่งมาเพื่อประท้วงจำเลยที่ 1 จึงได้ทำความเห็นเสนอจำเลยที่ 1 ว่าไม่ควรเลื่อนเงินเดือนให้โจทก์ และจำเลยที่ 1 มีความเห็นด้วยกับจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เช่นนี้ แม้จะเป็นการใช้ดุลพินิจโดยขาดความละเอียดรอบคอบจนอาจเรียกได้ว่าขาดความเป็นธรรม ก็เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำนาจในการบริหารที่ตนมีอยู่ โดยโจทก์เองมีส่วนทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เข้าใจผิดและใช้ดุลพินิจดังกล่าว กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์.