คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1957/2531

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
บทบัญญัติมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช2474 บัญญัติไว้ตอนต้นว่า 'ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้' ซึ่งรับกับมาตรา 41 (1) ที่ให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ หากผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องและแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ ฉะนั้นเมื่อจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทที่แท้จริงและได้ส่งสินค้าซึ่งมีเครื่องหมายการค้าพิพาทเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นเวลานาน ก่อนที่โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทดังกล่าว แม้จำเลยจะยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยจำเลยก็มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์ได้ตามมาตรา 41 (1)
การที่โนตารีปับลิกรับรองการมีอยู่ของหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยในประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องรับรองความถูกต้องไว้แล้วนั้น เทียบเคียงได้กับกรณีการเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจที่ได้ทำในเมืองต่างประเทศตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 47 วรรคสาม คือไม่จำต้องมีเจ้าพนักงานสถานกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยรับรองอีกชั้นว่าผู้รับรองเอกสารดังกล่าวเป็นโนตารีปับลิกจริง ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของบุคคลที่ลงลายมือชื่อรับรองในฐานะโนตารีปับลิกดังกล่าว ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบหักล้างหรือโต้แย้งอย่างใดแล้วศาลก็รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทนั้นได้.
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 27
  • พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 41

ผู้พิพากษา

วิศิษฏ์ ลิมานนท์
จำนง นิยมวิภาต
นิเวศน์ คำผอง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android