คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1436/2531

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล อธิบดีซึ่งเป็นผู้แทนของกรมโจทก์มอบอำนาจให้ผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องคดีแทน ดังนี้อากรสำหรับการมอบอำนาจซึ่งกรมโจทก์เป็นฝ่ายที่ต้องเสียจึงเป็นอันไม่ต้องเสียตามประมวลรัษฎากร มาตรา 121 โจทก์มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 4 ให้มีหน้าที่และรับผิดชอบโดยตรงในด้านการเงินและทะเบียนยานพาหนะ แต่จำเลยที่ 3 ไม่เคยตรวจตราอย่างใกล้ชิดในการเก็บรักษาเงิน และไม่ดูแลในการนำเงินส่งคลังให้เป็นไปตามระเบียบเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฉวยโอกาสยักยอกเงินของทางราชการไป จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 4 มีตำแหน่งเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธร ย่อมต้องมีหน้าที่รับผิดชอบงานในหน่วยราชการที่ตนมีหน้าที่ควบคุมอยู่ แม้จะมอบหมายหน้าที่การเงินให้จำเลยที่ 3 ดูแลแทน จำเลยที่ ก็ยังต้องมีหน้าที่ดูแลมิให้เกิดการเสียหาย เมื่อจำเลยที่ 4 ปล่อยละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบในการรักษาเงินโดยไม่เก็บรักษากุญแจไว้กับตนกลับมอบให้จำเลยที่ 3 ซึ่งถือกุญแจอยู่อีก 1 ดอกเ เป็นการเปิดช่องให้มีการยักยอกเงินสะดวกขึ้น เมื่อมอบหมายให้จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่แทนตนก็มิได้ตรวจตราควบคุมดูแลการนำเงินเข้าและออกจากที่เก็บตลอดจนมิได้ตรวจสอบทะเบียบเงินยืมและเร่งรัดให้มีการส่งใบสำคัญหักล้างเงินยืมตามระเบียบจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมใบยืมและเบิกเงินไปโดยผิดระเบียบถึง 29 ครั้ง ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อ เมื่อเกิดความเสียหายอันเป็นผลของความประมาทเลินเล่อดังกล่าวจำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิด
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60
  • ประมวลรัษฎากร มาตรา 121
  • พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2508 มาตรา 27

ผู้พิพากษา

สมบูรณ์ ฤกษ์สำราญ
ธิรพันธุ์ รัศมิทัต
อรรถวิทย์ วรรธนวินิจ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android