คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1195/2531

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์บรรยายฟ้องว่าเจาะจงตัวจำเลยที่ 2 ว่าเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัท ส.จำกัด ไม่ต้องระบุว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 2 การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์นั่งรถยนต์รับจ้างสามล้อที่ ก.เป็นผู้ขับขี่แล่นมาถึงบริเวณใกล้ที่พักผู้โดยสารประจำทางใกล้สะพานสท้านนภา โฉมหน้าจากสถานีขนส่งสายใต้ไปทางสามแยกท่าพระถูกรถยนต์โดยสารประจำทางสาย 81 คันหมายเลขทะเบียน กท. จ.3991 พุ่งเข้าชนนั้นย่อมชัดแจ้งเข้าใจได้แล้วว่ารถชนกันที่ใด ส่วนค่าเสียหายโจทก์ก็บรรยายฟ้องแยกชนิดประเภทความเสียหายว่าเป็นเงินส่วนละเท่าใด ความเสียหายที่ทำให้โจทก์เสียฆานประสาทก็บรรยายว่าไม่อาจรับความรู้สึกในการดมกลิ่นอีกฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิด ไม่ได้ฟ้องเกี่ยวกับสินสมรถเป็นการฟ้องตามสิทธิที่มีอยู่เป็นการเฉพาะตัว จึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากสามี
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในมูลละเมิดภายในกำหนดอายุความ แต่ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องที่เกี่ยวกับค่าเสียหายในภายหลัง คำฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายดังกล่าวไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ได้นำรถยนต์โดยสารประจำทางคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 มาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางเดินรถของจำเลยที่ 3 พนักงานเก็บเงินค่าโดยสารของรถยนต์โดยสารประจำทางดังกล่าวก็เป็นพนักงานของจำเลยที่ 3 จึงถือได้ว่าการนำรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 เข้ามาแล่นในเส้นทางสัมปทานที่จำเลยที่ 3 ได้รับจากรัฐบาลเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179

ผู้พิพากษา

ประชา บุญวนิช
ดุสิต วราโห
คำนึง อุไรรัตน์

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android