คำพิพากษาย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จที่ยังขาดอยู่แก่โจทก์โดยอ้างว่าจำเลยมีข้อบังคับให้จ่ายเงินบำเหน็จ แต่อุทธรณ์ว่าเดิมจำเลยมีข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2528 โดยไม่ระบุว่าเงินบำเหน็จสูงกว่าค่าชดเชยจะเป็นอย่างไร ต่อมาจำเลยออกข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2529 ยกเลิกฉบับปี พ.ศ. 2528 เพื่อประโยชน์แก่จำเลยข้อบังคับฉบับหลังนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องไว้ ทั้งกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอันเป็นเรื่องที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ หากโจทก์ตกลงด้วยก็มีผลใช้บังคับได้อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลางต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ตามข้อบังคับโรงพิมพ์ตำรวจว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2529 กำหนดว่าในกรณีที่พนักงานออกจากงานโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้แต่ถ้าค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะได้รับตามข้อบังคับนี้ก็ให้จ่ายเพิ่มเฉพาะส่วนที่ยังขาดอยู่ ซึ่งมีความหมายว่าพนักงานของจำเลยคนใดที่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานอยู่แล้วหากค่าชดเชยนั้นมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จ จำเลยก็จะจ่ายค่าชดเชยให้เต็มจำนวนกับยังจ่ายเงินบำเหน็จให้อีกตามจำนวนที่แตกต่างกันเฉพาะส่วนที่มีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยนั้น เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยเกินกว่าจำนวนค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเงินที่โจทก์ได้รับจึงเป็นค่าชดเชยเต็มจำนวนแล้ว โจทก์คงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนที่ยังขาดอยู่เท่านั้น