คำพิพากษาย่อสั้น
การรับช่วงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 ได้แก่การเอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่งในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับทรัพย์สินอันก่อน การที่ทรัพย์สินของสามีจำเลยและของจำเลยตกไปเป็นของรัฐตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นไปตามกฎหมาย และนโยบายของรัฐบาลไม่ใช่เป็นการช่วงทรัพย์และไม่ใช่เหตุสุดวิสัยจำเลยจึงหาหลุดพ้นจากความรับผิดที่จะต้อง ชำระหนี้แก่โจทก์ไม่
มูลหนี้เดิมในคดีล้มละลายเกิดจากสัญญาจ้างเหมาให้โจทก์ก่อสร้างบ้านพักของจำเลยอันเป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายแม้โจทก์ได้ฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ เพื่อโจทก์จะได้อาศัยหนี้ตามคำพิพากษาไปยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากกระทรวงการคลัง ก็เป็นสิทธิอันชอบที่จะกระทำเช่นนั้นได้ การที่โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระหนี้แก่โจทก์ ในคดีแพ่งดังกล่าว มิใช่เกิดจากการสมยอมโดยปราศจากมูลหนี้อันต้องห้ามตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 94 เมื่อหนี้เดิมได้แปลงมาเป็นหนี้ใหม่ตามคำพิพากษาตามยอมจึงหาทำให้หนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอชำระได้ไม่และแม้จำเลยจะได้ชำระหนี้ให้โจทก์แล้วถึงร้อยละ 79.01 เมื่อปรากฏว่าจำเลยค้างชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินถึงหนึ่งล้านสามแสนบาทเศษ และจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้ และทรัพย์สินของจำเลยถูกยึดไปเป็นของรัฐหมดแล้วเช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 8, 9 จำเลยนำสืบไม่ได้ว่า อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด ทั้งไม่เป็นการแน่นอนว่าสามีจำเลยและจำเลยจะได้รับทรัพย์สินที่ถูกยึดคืนตามที่ร้องขอหรือไม่ คดีจึงมีเหตุสมควรให้ลูกหนี้ (จำเลย) ล้มละลายได้