คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2537

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์ก็ต้องนำพยานซึ่งเป็นผู้นำเงินไปชำระค่าธรรมเนียมและเป็นประจักษ์พยานเข้าสืบทั้งหมด เมื่อโจทก์นำพยานเข้าสืบตามฟ้องเพียง 6 ข้อ จึงฟังลงโทษจำเลยได้เพียง 6 ข้อนั้น เมื่อโจทก์ได้นำพยานบุคคลและพยานเอกสารเข้าสืบ ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่งจนเป็นที่พอใจแก่ศาลชั้นต้นแล้วว่าจำเลยได้กระทำผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ฐานเจ้าพนักงานเบียดบัง ยักยอก ซึ่งเป็นบทเฉพาะ ให้ลงโทษจำเลยเป็นความผิดต่างกระทง ในรายที่ได้กระทำ อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 15 กระทง ฎีกาจำเลยในข้อนี้จึงเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟัง พยานหลักฐานของศาล เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่จำเลย ฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบาก็เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เช่นกัน ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีหน้าที่ในการซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาตัวทรัพย์ก็ดี เงินค่าธรรมเนียมที่จำเลย ยักยอกไม่ใช่ทรัพย์วัตถุมีรูปร่างที่จำเลยมีหน้าที่ซื้อทำ จัดการรักษาก็ดี เจ้าพนักงานจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ต้องเบียดบังทรัพย์ ซึ่งเป็นวัตถุมีรูปร่างก็ดี จำเลยกรอกข้อความกำลังแรงม้าและจำนวนเงินเปลี่ยนแปลงในต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน และในสมุดเงินสด โดยจำเลยแก้ไขเพียงครั้งเดียวในวันเวลา เดียวกัน ในตอนเย็นก่อนเลิกงานราชการ และก่อนที่จะส่งเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้แก่เจ้าหน้าที่เก็บรักษาเงินเข้าเป็นประโยชน์ส่วนตัว จึงเป็นการเบียดบังยักยอกเงินค่าธรรมเนียมอันเป็นความผิดกรรมเดียวต่อเนื่องกันในแต่ละวันที่จำเลยยักยอกเงินค่าธรรมเนียมไปเป็นความผิดเพียง 8 กรรมตามวันที่ที่จำเลยยักยอกนั้นก็ดี เป็นฎีกาที่โต้เถียงข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้มีเจตนากระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกและมิได้มีเจตนากระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน และเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำ ของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกต่างกรรม ต่างวาระกันดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา แต่การกระทำ ของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพียงบทเดียว และเพียง 3 กรรม นั้น ล้วนเป็นฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

ผู้พิพากษา

สวรรค์ ศักดารักษ์
อุดม มั่งมีดี
สันติ ทักราล

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android