คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2530

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การตั้งทนายความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61นั้น ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อตัวความและทนายความ และตามแบบพิมพ์ใบแต่งทนายความกำหนดให้ผู้ที่รับเป็นทนายความลงลายมือชื่อไว้ในคำรับเป็น ทนายความด้วย ดังนั้น หากทนายโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในคำรับเป็นทนายความแม้ในใบแต่งทนายความโจทก์ได้ระบุชื่อทนายโจทก์เป็นทนายความของโจทก์ และทนายโจทก์ได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อโจทก์ไว้แล้ว ทั้งคำรับเป็นทนายความก็ปรากฏชื่อทนายโจทก์เป็นทนายความตามใบอนุญาตที่ระบุไว้ ก็จะถือว่าทนายโจทก์ได้รับเป็นทนายความของโจทก์โดยปริยายแล้วหาได้ไม่
ตามคำฟ้องระบุว่าผู้ยื่นฟ้องรอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันยื่นฟ้องให้ทนายโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นโจทก์แก้ไขข้อบกพร่องที่ทนายโจทก์มิได้ลงชื่อรับเป็นทนายความในใบแต่งทนายความภายในกำหนด ก็ต้องถือว่าทนายโจทก์ได้ทราบคำสั่งนั้นแล้ว เมื่อทนายโจทก์ไม่ลงชื่อในคำรับเป็นทนายความภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ศาลจึงชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีจากสารบบความเสียได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174

ผู้พิพากษา

สุทิน นนทแก้ว
สหัส สิงหวิริยะ
เสวก จันทร์ผ่อง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android