คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2530

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
การที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถโจทก์ที่ 2 เสียหายแล้วได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดระงับไป และทำให้ได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยอาศัยมูลละเมิดและทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างระงับไปด้วย
จำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์ที่ 2 ความผูกพันตามสัญญาประกันภัยซึ่งโจทก์ที่ 1 ผู้รับประกันภัยจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 ย่อมยังไม่ระงับ เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้ใช้ค่าซ่อมรถแทนโจทก์ที่ 2 ไป จึงเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามจำนวนที่ชดใช้ไปจริงแต่ไม่เกินจำนวนที่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้
โจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับช่วงสิทธิของโจทก์ที่ 2 ที่จะเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวกับโจทก์ที่ 2 ด้วยโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 227
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880

ผู้พิพากษา

เสียง ตรีวิมล
สุรัตน์ ศรีอนุพันธุ์
จำนง นิยมวิภาต

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android