คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 146/2530

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
กระบวนพิจารณาคดีการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 บัญญัติไว้เป็นพิเศษในมาตรา 78 และ 79 ว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งในคดีคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่กฎหมายมอบหมายให้ศาลจังหวัดหรือศาลแพ่งกระทำการแทนศาลฎีกา ส่วนความเห็นของศาลหนึ่งศาลใดดังกล่าวที่ได้ส่งมายังศาลฎีกาพร้อมกับสำนวนนั้นก็เป็นเพียงข้อเสนอแนะต่อศาลฎีกาโดยตรง ไม่มีลักษณะเป็นคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียจะโต้แย้งคัดค้านได้ และในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีศาลฎีกาก็มิได้ถูกผูกมัดโดยความเห็นของศาลหนึ่งศาลใดดังกล่าวนั้นด้วย ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลฎีกาอาจจะมีคำวินิจฉัยคดีคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปได้โดยไม่จำต้องรอฟังความเห็นของศาลจังหวัดหรือศาลแพ่ง
ในคดีคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นศาลแพ่งมีคำสั่งว่า จะพิจารณารวมสั่งเมื่อมีคำสั่ง ผู้คัดค้านย่อมมีอำนาจยื่นฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยเสียเองได้
คำร้องบรรยายว่า เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่คะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งในเขต 8 กรุงเทพมหานคร ทุกหน่วยจงใจนับบัตรเลือกตั้งหรือคะแนนของผู้ร้องและของผู้คัดค้านที่ 2 ให้ผิดไปจากความจริงหรือรวมคะแนนให้ผิดไปจากความเป็นจริง โดยกรรมการตรวจนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยได้จงใจนับบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นบัตรเสียให้เป็นบัตรดีจำนวน 50 คะแนน ทำให้ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับคะแนนเพิ่มไปจากความเป็นจริง 50 คะแนน ดังรายละเอียดปรากฏตามบัตรเลือกตั้งและหน่วยเลือกตั้งบัญชีท้ายคำร้องหมายเลข 1 และกรรมการตรวจนับคะแนนประจำหน่วยเลือกตั้งทุกหน่วยได้จงใจนับบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นบัตรดีให้เป็นบัตรเสียจำนวน 690 คะแนน ดังรายละเอียดปรากฏตามบัตรเลือกตั้งและหน่วยเลือกตั้ง บัญชีท้ายคำร้องหมายเลข 2 ทำให้ผู้ร้องได้คะแนนน้อยไปจากความเป็นจริง 690 คะแนน เช่นนี้จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งดังกล่าวได้ตามมาตรา 78 และบัญชีท้ายคำร้องหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องก็มีรายละเอียดชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง นับได้ว่าคำร้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของผู้ร้องและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น กรณีต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 โดยชอบแล้ว คำร้องของผู้ร้องไม่เคลือบคลุม
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226
  • พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 51
  • พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 78
  • พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 79

ผู้พิพากษา

สหัส สิงหวิริยะ
เสวก จันทร์ผ่อง
สุทิน นนทแก้ว

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android