คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4490/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่า การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว ดังนี้ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามที่กล่าวอ้างในคำฟ้อง
กรณีที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยหลังจากยื่นฟ้องแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ก) นั้น ศาลแรงงานกลางจะเรียกให้ตามที่ขอหรือไม่ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่เรียกเป็นการไม่ชอบ จึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 54
การที่โจทก์ทำงานบกพร่อง ขาดความสามารถ หรือไม่สามารถทำงานร่วมกับพนักงานอื่น เป็นเพียงคุณลักษณะส่วนตัวของโจทก์ ไม่ใช่การฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มาตรา 47
  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54

ผู้พิพากษา

สุพจน์ นาถะพินธุ
จุนท์ จันทรวงศ์
มาโนช เพียรสนอง

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android