คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4136/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
พินัยกรรมแบบธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1656 ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้ พยานรับรองพินัยกรรมโดยลงลายพิมพ์นิ้วมือย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1656 และ 1666
พินัยกรรมซึ่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือไว้ มีพยานรับรองพินัยกรรมสองคน คนหนึ่งลงลายพิมพ์นิ้วมือ อีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อ และมี พ.ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ปกครองท้องที่ เมื่อปรากฏว่า พ.อยู่รู้เห็นการทำพินัยกรรมมาแต่ต้นจนกระทั่งผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองพินัยกรรมที่สมบูรณ์คนหนึ่งแล้ว พ.จึงลงลายมือชื่อในฐานะผู้ปกครองท้องที่ แม้จะไม่ได้เขียนคำว่าพยานไว้ท้ายชื่อของ พ.ก็ถือได้ว่า พ.เป็นพยานรับรองพินัยกรรมอีกคนหนึ่งเพราะพยานในพินัยกรรมไม่จำต้องเขียนคำว่าพยานไว้ท้ายชื่อ เป็นแต่เพียงมีข้อความให้เห็นได้ว่าเป็นพยาน ก็ถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมแล้ว พินัยกรรมจึงสมบูรณ์(อ้างฎีกาที่363/2492)
พยานที่ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมขณะทำพินัยกรรมไม่จำต้องลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมอีกหนหนึ่ง เพราะถือได้ว่าพยานทำหน้าที่สองฐานะคือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 9, 1665 และตามมาตรา 1656 (อ้างฎีกาที่111/2497)
ฎีกาโจทก์ที่ว่าพินัยกรรมแบบธรรมดาจะต้องมีลายมือชื่อผู้เขียนกำกับไว้ และระบุด้วยว่าเป็นผู้เขียน ประเด็นดังกล่าวน่าจะต้องได้รับการวินิจฉัยโดยลึกซึ้ง เป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างใด เพียงแต่เสนอความเห็นว่าน่าจะต้องได้รับการวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้ให้ลึกซึ้งเท่านั้น เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1665
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1666
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

ผู้พิพากษา

สีนวล คงลาภ
มาโนช เพียรสนอง
สุพจน์ นาถะพินธุ

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android