คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3352/2529

 แหล่งที่มา: กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
 เผยแพร่เมื่อ: 1 ม.ค. 2513 07:00:00

คำพิพากษาย่อสั้น

 
จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้ติดต่อกับต่างประเทศในด้านการทำประกันภัยต่อ ระบุตำแหน่งว่าเป็นผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาที่ทำกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 รู้เห็นและไม่ทักท้วง จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1ในการทำสัญญาดังกล่าวกับโจทก์ เมื่อสัญญาเหล่านั้นเกี่ยวด้วยการรับประกันภัยอันอยู่ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงย่อมมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน
จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานเอกสารที่อ้าง และทนายจำเลยที่ 1 คัดค้านมิให้ศาลรับฟัง แต่เมื่อประธานกรรมการจำเลยที่1 เบิกความทนายจำเลยที่ 2 ได้ถามพยานเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว พยานเบิกความรับรองศาลชั้นต้นรับเอกสารนี้ไว้และสั่งให้จำเลยที่ 2 เสียค่าอ้าง จำเลยที่ 2 ได้เสียค่าอ้างเอกสารแล้ว ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้
ตามเอกสารท้ายฟ้องมีข้อความว่า โจทก์เป็นผู้ถือบันทึกประกันภัยจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับประกันภัย โดยยอมรับส่วนการประกันภัย และยอมให้โจทก์มีอำนาจผูกพันบัญชีของจำเลยที่ 1และมีอำนาจออกกรมธรรม์ประกันภัยในนามของจำเลยที่ 1 อันเกี่ยวกับการประกันภัยโดยตรงและการประกันภัยโดยทางอ้อมเมื่อได้ความตามฟ้องว่า ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มีการทำสัญญาเกี่ยวกับการรับประกันภัยเกิดขึ้น และมีหนี้ผูกพันเกี่ยวด้วยการปฏิบัติตามสัญญานั้นที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลย
ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้มีการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด แต่ปรากฏตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ดังนั้นจึงไม่มีกรณีที่จำเลยที่ 1 จะยอมเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ แม้โจทก์มีความประสงค์เช่นนั้น และปรากฏตามฟ้องว่า ก่อนฟ้องโจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้
โจทก์ฟ้องเรียกเงินในส่วนที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ อ้างความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 และบริษัทคนกลางมีเอกสารท้ายฟ้องประกอบแสดงรายละเอียดจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระในแต่ละงวด แต่ละปี รวมเป็นยอดหนี้ทั้งสิ้น และขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 ชำระตามยอดเงินตรงกับเอกสารท้ายฟ้อง เป็นฟ้องที่แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 1 ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โดยมิได้อ้างเหตุว่าขาดอายุความกรณีใดบ้าง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งเพราะอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในแต่ละประเภทมีกำหนดเวลาต่างกันคำให้การจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย
ในกรณีที่ต้องชำระหนี้กันเป็นเงินตราต่างประเทศศาลจะพิพากษาให้ใช้เงินตราต่างประเทศหรือมิฉะนั้นให้คิดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศนั้นเป็นเงินไทย โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ทำการขายเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยในวันที่มีคำพิพากษา ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มี ก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเช่นว่านั้นก่อนวันพิพากษา
 
 
 
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 69
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 797
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 861
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 862
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177
  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 210

ผู้พิพากษา

ประการ กาญจนศูนย์
ประพันธ์ ผลฉาย
พลจิตต์ ดียืน

แอปพลิเคชั่นค้นหาคำพิพากษาศาลฎีกา

ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for iOS ค้นหาฎีกา (Easy Deka) for Android